สายด่วน อต. 1182
สายด่วน อต. 1182

กิจกรรมกรมอุตุนิยมวิทยา (30 มิถุนายน 2565)

กรมอุตุนิยมวิทยา ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ ด้านอุตุนิยมวิทยากับโรคและภัยสุขภาพในประเทศไทย กับกรมควบคุมโรค
วันที่ข้อมูล 30 มิถุนายน 2565

วันนี้ (30 มิถุนายน 2565) กรมอุตุนิยมวิทยา นำโดย ดร. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกับ กรมควบคุมโรค โดยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการด้านอุตุนิยมวิทยากับโรคและภัยสุขภาพ ในประเทศไทย ระหว่าง อุตุนิยมวิทยา และกรมควบคุมโรค โดยมีนายธนาวุฒิ ปัญจพรอุดมลาภ รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายปฏิบัติการ และนายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมลงนามเป็นพยาน ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้งาน “ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเฝ้าระวังโรคติดต่อนำโดยแมลงในประเทศไทย” มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมกันนี้ได้กล่าวว่าโรคติดต่อที่นำโดยแมลงที่เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคที่ผันแปรตามฤดูกาล และมีแนวโน้มสูงอยู่ในขณะนี้ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน ประกอบกับประเทศไทยมีลักษณะภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จึงทำให้พบค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงเกินมาตรฐานเอื้อต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออก ทั้งนี้ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้เห็นความสำคัญของปัญหาและผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน จึงได้หารือความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังพบปัญหาการเฝ้าระวัง ควบคุมโรค และการตอบโต้การระบาดของ โรคไข้เลือดออกไม่ทันการณ์ ทำให้เกิดการระบาดแพร่กระจายไปทั่วประเทศ จึงได้จัดงานครั้งนี้ขึ้นเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตรในการร่วมมือกำจัดโรคติดต่อนำโดยยุงลายให้ลดและ หมดไปจากประเทศไทย เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนคนไทย
ดร. ชมภารี อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา เช่น อุณหภูมิ ความชื้น หรือลม เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อโรค ดังนั้น เพื่อวางแผนรับมือกับสถานการณ์โรคติดต่ออย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำข้อมูลอุตุนิยมวิทยามาประยุกต์ใช้ในการวางแผนป้องกันการระบาด หรือบริหารจัดการเกี่ยวกับการควบคุมโรค โดยปัจจุบันนี้กรมอุตุนิยมวิทยากำลังพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูล ทั้งข้อมูลการตรวจวัดและข้อมูลพยากรณ์เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการสืบค้นข้อมูลให้มากยิ่งขึ้น โดยผู้ใช้บริการข้อมูลหรือหน่วยงานต่าง ๆ จะสามารถเข้าถึงข้อมูลโดยผ่านทาง API ของกรมอุตุนิยมวิทยาได้ และกรมฯ ยินดีที่จะพัฒนาความร่วมมือ และบูรณาการระหว่างหน่วยงานอย่างใกล้ชิดและกว้างขวางยิ่งขึ้น การลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย การปฏิบัติของหน่วยงาน ตลอดจนประชาชนผู้ได้รับประโยชน์
ข่าว : ปุญชรัสมิ์ ราศรี
ภาพ : อดิศักดิ์ พิมพ์พงษ์
30 มิถุนายน 2565