เมื่อวันที่ 27 - 30 มิถุนายน 2565 ดร. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา มอบหมายให้ ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายวิชาการ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย ดร.วัฒนา กันบัว ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา นางสาวชลาลัย แจ่มผล ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องของกรมอุตุนิยมวิทยา และผู้แทนจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวม 16 คน เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพายุหมุนเขตร้อน สมัยที่ 49 (The forty-ninth session of the WMO/ESCAP Panel on Tropical Cyclones (PTC-49)) ระหว่างวันที่ 27 – 30 มิถุนายน 2565 เวลา 15.00 – 18.00 น. (ผ่านระบบการประชุมทางไกล) ณ ห้องประชุมบุษราคัม ชั้น 2 อาคาร 50 ปี อุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา บางนา กรุงเทพมหานคร (โดยผู้แทนหน่วยงานภายนอกเข้าร่วมการประชุมจากสถานที่ตั้งของตนเอง)
การประชุม PTC-49 ครั้งนี้ มีผู้แทนจากหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของประเทศสมาชิกคณะกรรมการพายุหมุนเขตร้อน (PTC) 13 ประเทศ เข้าร่วม ได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย อิหร่าน มัลดีฟส์ พม่า โอมาน ปากีสถาน กาตาร์ ซาอุดิอาราเบีย ศรีลังกา ประเทศไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ เยเมน พร้อมด้วยผู้แทนองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ผู้แทนคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) และผู้สังเกตการณ์จาก Gulf Cooperation Council (GCC) และผู้เชี่ยวชาญจากกรมอุตุนิยมวิทยาจีน รวมทั้งสิ้น 66 คน โดย Dr. Ayman Salem Ghulam อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ทำหน้าที่ประธาน และ Mr Ali Shareef อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาสาธารณรัฐมัลดีฟส์ ทำหน้าที่รองประธานคณะกรรมการพายุหมุนเขตร้อน สมัยที่ 49 ตามลำดับ
การประชุมคณะกรรมการพายุหมุนเขตร้อน (PTC) จัดให้มีขึ้นปีละครั้ง โดยที่ประชุม PTC-49 ครั้งนี้ ได้มีการพิจารณาผลกระทบของพายุที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอ่าวเบงกอลและทะเลอาราเบียน ของ PTC ในช่วงฤดูกาลพายุปี ค.ศ. 2021-2022 พิจารณากำหนดโครงสร้างการดำเนินงานใหม่ของ PTC พิจารณาการเปิดรับสมัครสมาชิกที่มีความพร้อมและยินดีรับเป็นเจ้าภาพจัดตั้งสำนักเลขาธิการของ PTC รายใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของ PTC ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้พิจารณากำหนดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของ PTC ที่จะมีขึ้นในปี ค.ศ. 2023 พร้อมทั้งพิจารณาแนวทางในการปรับปรุงการให้บริการเตือนภัยการเกิดพายุหมุนเขตร้อนล่วงหน้า ทบทวนกิจกรรม/โครงการของคณะกรรมการพายุหมุนเขตร้อนในรอบปีที่ผ่านมา ตลอดจนวางแผนและดำเนินมาตรการต่างๆ ทางด้านอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา การเตรียมพร้อมและป้องกันภัยพิบัติ การฝึกอบรม และการศึกษาวิจัยทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนความร่วมมือทางวิชาการ (Coordinated Technical Plan) ของคณะกรรมการพายุหมุนเขตร้อน อันจะนำประโยชน์มาสู่ประเทศสมาชิกต่อไป
04 กรกฎาคม 2565