สายด่วน อต. 1182
สายด่วน อต. 1182

กิจกรรมผู้บริหารกรมอุตุนิยมวิทยา (03 ตุลาคม 2565)

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาร่วมประชุมบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยฯ รายงานสรุปสถานการณ์พายุโนรู
วันที่ข้อมูล 03 ตุลาคม 2565

วันนี้ (3 ต.ค.2565) เวลา 09.30 น. ดร. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประชุมบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม และกรมประชาสัมพันธ์ มี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ณ ห้องประชุมราชสีห์ กระทรวงมหาดไทย

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวรายงานสถานการณ์เบื้องต้นว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่ได้รับผลกระทบ พร้อมแจ้งว่าการประชุมครั้งนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับผลกระทบรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.)

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอขอบคุณที่กรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงถึงสถานการณ์พายุโนรูที่เข้าประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รายงานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันขอให้ทุกหน่วยงานนำข้อมูลมาบูรณาการกัน และเตรียมการไว้ล่วงหน้ารับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่มีทั้งมาตรการหลัก มาตรการเสริมและการระบายน้ำ สถานการณ์ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ มีฝนตก อยากบอกกับประชาชนทุกคนว่ารัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ในการดูแล ซึ่งสถานการณ์ในต่างประเทศก็ไม่ได้ดีกว่าเรามากนัก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในตอนนี้อาจจะมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนเข้ามา ซึ่งจะส่งผลกระทบกับภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ไล่ลงไปภาคใต้ของไทย แต่ความเสียหายต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้น แต่ครั้งนี้รู้สึกน้อยกว่าที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่การเกษตร

ที่ประชุมรายงานภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ แนวทางบริหารจัดการน้ำ แนวโน้มสถานการณ์ฝน รายงานภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย การบรรเทาสาธารณภัย และการสร้างการรับรู้ โดย ดร. ชมภารี รายงานต่อที่ประชุมว่า พายุโนรูเป็นพายุลูกแรกที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง โดยเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามในช่วงเช้าวันที่ 28 ก.ย. 2565 ผ่าน สปป. ลาว จากนั้นอ่อนกำลังลงจากพายุโซนร้อนเป็นดีเปรสชันเมื่อเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย เวลา 18.00 น. บริเวณ อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี เคลื่อนผ่าน จ. อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น จากนั้นอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณ จ. ชัยภูมิ (29 ก.ย. 2565 เวลา 19.00 น.) และอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ผลกระทบจากพายุโนรูกับประเทศไทยระหว่างวันที่ 28-30 ก.ย. 2665 ทำให้มีฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนล่าง ภาคกลาง กทม. และปริมณฑล ปริมาณฝนเกิน 100 มม. ปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ 203.0 มม. ที่ อ. เมืองจันทร์ จ. ศรีสะเกษ (29 ก.ย. 2565) ทั้งนี้ กรมฯ ได้เปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุตลอด 24 ชั่วโมง โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมต.ดีอีเอส และประชุม Video Conference กับสถานีส่วนภูมิภาค รายงานสถานการณ์สด (Live) โดยโฆษกกรมฯ และส่งข้อความสั้น (SMS) แจ้งเตือนพายุโดยความร่วมมือจากบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่

ด้านปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยในปีนี้ (1 ม.ค.-28 ก.ย. 65) ประเทศไทยยังคงมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติ 22% ค่าปริมาณฝนเฉลี่ย 1549.1 มม. (ค่าปกติ 1274.2 มม.) แต่ยังมีบางพื้นที่ที่มีฝนน้อยกว่าค่าปกติอยู่บ้างบริเวณภาคอีสานตอนบน และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับพื้นที่ กทม. มีฝนสูงกว่าค่าปกติ 56%

สำหรับการคาดหมายฝนเชิงพื้นที่ 3 เดือนล่วงหน้า ในเดือน ต.ค. นี้ บริเวณประเทศไทยตอนบนจะยังมีฝน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่ง ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศสูงกว่าเมื่อเทียบค่าปกติ จากนั้นช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวปริมาณฝนจะเริ่มลดลง ยกเว้นภาคใต้ (ตั้งแต่ จ.ชุมพร) มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนาแน่นและตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและมีค่าฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติ และอาจจะต้องเฝ้าระวัง ติดตามพายุหมุนเขตร้อนที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก 1 ลูก โดยพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ถึงตอนกลาง (ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา) จะเป็นพื้นที่เสี่ยงและได้รับผลกระทบสูงสุด อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานต่อที่ประชุมในช่วงท้าย



ภาพ : อดิศักดิ์ พิมพ์พงษ์

ข่าว : ปุญชรัสมิ์ ราศรี
03 ตุลาคม 2565