Link Copied
การพยากรณ์อากาศ+
โอโซน+
ปรากฏการณ์เอลนีโญ
ปรากฏการณ์ลานีญา
ปรากฏการณ์เอลโซ่
ภาวะเรือนกระจก Greenhouse effect
ปัจจัยทางธรรมชาติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ภูมิอากาศของประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ+
ฤดูกาล,ฤดูกาลของโลก,ฤดูกาลของประเทศไทย
พายุหมุนเขตร้อน+
ชื่อพายุโซนร้อนปี2565, ดีเปรสชั่น, โซนร้อน, ไต้ฝุ่น
เกณฑ์อากาศ
เวลามาตรฐาน,การประกาศใช้เวลามาตรฐานของประเทศไทย
แผ่นดินไหว+
ภัยธรรมชาติในประเทศไทย
การพยากรณ์อากาศ+
โอโซน+
ปรากฏการณ์เอลนีโญ
ปรากฏการณ์ลานีญา
ปรากฏการณ์เอลโซ่
ภาวะเรือนกระจก Greenhouse effect
ปัจจัยทางธรรมชาติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ภูมิอากาศของประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ+
ฤดูกาล,ฤดูกาลของโลก,ฤดูกาลของประเทศไทย
พายุหมุนเขตร้อน+
ชื่อพายุโซนร้อนปี2565, ดีเปรสชั่น, โซนร้อน, ไต้ฝุ่น
เกณฑ์อากาศ
เวลามาตรฐาน,การประกาศใช้เวลามาตรฐานของประเทศไทย
แผ่นดินไหว+
ภัยธรรมชาติในประเทศไทย
ทฤษฎีทางดาราศาสตร์กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ทฤษฎีทางดาราศาสตร์ อยู่บนพื้นฐานของแนวความคิดที่ว่า "การเปลี่ยนแปลงแนววงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์มีผลต่อภูมิอากาศ เนื่องจาก การกระจายของพลังงานรังสีดวงอาทิตย์ที่ตกลงมายังผิวโลกตามเส้นละติจูดต่างๆ เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยนั่นคือจะทำให้ฤดูกาลในภูมิอากาศต่างๆบนพื้นผิวโลกเปลี่ยนแปลงด้วยอย่างเป็นลูกโซ่"แนวความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงแนววงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเพิ่งได้รับความสนใจในต้นศตวรรษที่19 นี้โดยที่ Milutin Milankovitch นักดาราศาสตร์ชาวยูโกสลาเวียได้สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ จากข้อมูลต่างๆดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงแนววงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ (Eccentricity)
2. การเอียงของแกนโลกจากเส้นตั้งฉากกับระนาบการหมุนของโลกรอบดวงอาทิตย์ (Obliquity) เปลี่ยนแปลงไป
3. การแกว่ง ไป - มา ของแกนโลกขณะหมุนรอบตัวเอง (Precession)
1. การเปลี่ยนแปลงแนววงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์
แม้ว่าความแตกต่างของระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ (โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี)จะมีผลต่อความแตกต่างของอุณหภูมิตามฤดูกาลต่าง ๆ น้อยก็ตามแต่จะมีบทบาทที่สำคัญมากต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกในช่วงระยะเวลานับพันปีระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ที่ไกลที่สุด (Aphelion)ประมาณ 94.5 ล้านไมล์ในวันที่ 4 กรกฎาคม ซีกโลกเหนืออยู่ในระหว่างฤดูร้อนกับระยะทางที่ใกล้ที่สุด (Perihelion) ประมาณ 91.5 ล้านไมล์ ในวันที่ 3 มกราคมซีกโลกเหนืออยู่ในระหว่างฤดูหนาวแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ทำให้โลกได้รับพลังงานรังสีดวงอาทิตย์ในเดือนมกราคม มากกว่าในเดือนกรกฎาคม ประมาณ 6% อย่างไรก็ตาม รูปร่างวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ จะเปลี่ยนแปลงไปในรอบ 90,000-100,000 ปี วงโคจรจะยาวและรีมากขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นประมาณพลังงานรังสีดวงอาทิตย์ที่โลกได้รับขณะที่โลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดมากกว่าขณะที่โลกอยู่ไกลดวงอาทิตย์มากที่สุดถึง 20 - 30% ซึ่งจะมีผลทำให้ภูมิอากาศแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอนที่สุด
2. การเอียงของแกนโลกจากเส้นตั้งฉากกับระนาบการหมุนของโลกรอบดวงอาทิตย์
เปลี่ยนแปลงไปการเอียงของแกนโลกจากเส้นตั้งฉากกับระนาบการหมุนของโลกดวงอาทิตย์ เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิตามฤดูกาลปัจจุบันมุมที่แกนโลกเอียงจากเส้นตั้งฉากกับระนาบการหมุนของโลกรอบดวงอาทิตย์ 23.5 องศา มุมนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในรอบประมาณ 41,000 ปี โดยจะผันแปรอยู่ระหว่าง 22.1 - 24.5 องศา เมื่อมุมเอียงนี้เปลี่ยนแปลงไปความรุนแรงของฤดูกาล จะต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยถ้าเอียงน้อยความแตกต่างของอุณหภูมิในระหว่างฤดูหนาวกับฤดูร้อนจะน้อยเชื่อกันว่า ความแตกต่างระหว่างฤดูกาลที่ลดลงนี้ทำให้ทุ่งน้ำแข็งแผ่ขยายกว้างมากขึ้นเนื่องจากเมื่ออากาศในฤดูหนาวร้อนขึ้นความจุไอน้ำของอากาศจะสูงขึ้นด้วยตามอุณหภูมิ นั่นคือ หิมะจะตกมากขึ้น และในทางกลับกัน ฤดูร้อนอากาศเย็นลง ซึ่งหมายถึงว่าหิมะละลายได้น้อยลงเป็นเหตุทำให้ทุ่งน้ำแข็งขยายกว้างขึ้น
3. การแกว่งไป - มา ของแกนโลกขณะหมุนรอบตัวเอง
ขณะที่โลกหมุนรอบตัวเองแกนของโลกจะแกว่งเหมือนลูกข่างปัจจุบันแกนโลกชี้ไปยังดาว Polaris ที่เรียกวาดาวเหนือ (North Star) ประมาณ ค.ศ. 14,000 แกนโลกจะชี้ไปยังดาว Vega ซึ่งกลายเป็นดาวเหนือแทน เมื่อถึงตอนนั้นโลกจะทำการหมุนของโลกรอบดวงอาทิตย์ ระยะเวลาที่แกนของโลกแกว่งไปและแกว่งมา กลับตำแหน่งเดิม ประมาณ 26,000 ปี นั่นคือ ดาว Polaris จะกลับมาเป็นดาวเหนืออีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ. 27,000 ผลที่เกิดจากการแกว่งของแกนโลกนี้ภูมิอากาศจะต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกันอย่างแน่นอน กล่าวคือ เมื่อแกนโลกชี้ไปยังดาว Vega ในอีกประมาณ 12,000 ปีข้างหน้าตำแหน่ง Winter Solstice และ Summer Solstice ในวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ปัจจุบันจะสลับกัน ดังนั้นซีกโลกเหนือจะเกิดเป็นฤดูหนาวขณะที่โลกอยู่ไกลดวงอาทิตย์มากที่สุดและฤดูร้อนจะเกิดขึ้นขณะที่โลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดฤดูกาลที่แตกต่างกันนี้จะรุนแรงมากขึ้นฤดูหนาวมากขึ้นและฤดูร้อนจะร้อนมากขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
Milankovitch ใช้ข้อมูลทั้ง 3 นี้
ในการคำนวณความผันแปรของพลังงานรังสีดวงอาทิตย์ และอุณภูมิที่ผิวพื้นโลกย้อนหลังไปในอดีต เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทั้ง 3 กับการผันแปรของภูมิอากาศยุคน้ำแข็งจากการศึกษา พบว่า การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทั้ง 3 มีผลเพียงเล็กน้อย หรือแทบไม่มีเลยต่อปริมาณพลังงานรังสีดวงอาทิตย์ได้รับเฉลี่ยรายปี แต่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงขนาดความแตกต่างระหว่างฤดูกาล
นับตั้งแต่การทำงานเริ่มแรกของ Milankovitch ในการคำนวณการเปลี่ยนแปลงวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์และปริมาณพลังงานรังสีดวงอาทิตย์ที่ผิวพื้นโลก หลาย ๆ ครั้ง ได้มีการตรวจสอบข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งแก้ไขให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น ทฤษฎีทางดาราศาสตร์นี้ ในสมัยหนึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางเป็นเวลาหลายปี ต่อมาได้รับการความเชื่อถือน้อยลงและปัจจุบันจากการศึกษา พบว่า สามารถนำทฤษฎีนี้อธิบายลักษณะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศบางอย่างได้
การศึกษาอย่างหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ที่เพิ่มความน่าเชื่อถือ และสนับสนุนทฤษฎีทางดาราศาสตร์ คือ การสำรวจตะกอนใต้ท้องมหาสมุทร จากการวิเคราะห์ไอโซโทปก็าซออกซิเจนและองค์ประกอบทางเคมีที่มีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิต พบว่าสามารถศึกษาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศย้อนหลังได้ถึง 450,000 ปี นำการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศตามช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ที่วิเคราะห์ได้นี้ เปรียบเทียบกับการคำนวณทางดาราศาสตร์เกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงแนววงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ การเปลี่ยนแปลงการเอียงของแกนโลกกับเส้นตั้งฉาก จากกระนาบการหมุนของโลกรอบดวงอาทิตย์ และการแกว่งของแกนโลกขณะหมุนรอบตัวเอง เพื่อตรวจสอบว่า ภูมิอากาศในอดีตกับการเปลี่ยนแปลงทางดาราศาสตร์ดังกล่าวนี้ตรงกันหรือไม่ แม้ว่าการศึกษาจะเข้าใจยากและใช้คณิตศาสตร์ที่สลับซับซ้อน Lutgens and Taruck เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในรอบหลายแสนปี ที่ผ่านมามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงทางเรขาคณิต ของแนววงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ เนื่องจากพบว่า วงจรการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศตรงกับช่วงเวลาที่เกิด Eccentricity Obiquity และ Precession นอกจากนี้ Lutgens and Taruck ยังเน้นว่า "การเปลี่ยนแปลงทางเรขาคณิตของแนววงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ เป็นสาเหตุหลักของการทำให้เกิดยุคน้ำแข็ง" อย่างไรก็ตามการศึกษาเรื่องนี้ยังคงดำเนินการต่อไป เพื่อการคาดหมายแนวโน้มของภูมิอากาศในอนาคต แต่การศึกษาตามทฤษฎีทางดาราศาสตร์มีข้อเสีย 2 ประการ คือประการแรก ใช้ข้อมูลธรรมชาติเท่านั้นเป็นข้อมูลพื้นฐาน โดยไม่คำนึงถึงอิทธิพลจากการกระทำของมนุษย์ ประการที่สอง ระยะเวลาที่คาดหมายยาวนานเกินไป ตั้งแต่ 20,000 ปี ขึ้นไป ดังนั้นถึงแม้การคาดหมายจะถูกต้อง แต่จะไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศภายในช่วงเวลา 10 - 100 ปี เพราะว่าวงจรในทฤษฎีทางดาราศาสตร์ยาวนานเกินไปสำหรับวัตถุประสงค์การคาดหมายภูมิอากาศระยะเวลาสั้นๆ หากไม่มีอิทธิพลของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว จากการศึกษาคาดว่าแนวโน้มระยะยาว (20,000 ปีข้างหน้า) ภูมิอากาศของโลกจะเย็นลง ธารน้ำแข็งในซีกโลกเหนือจะแผ่ขยายกว้างขึ้นจากการวิจัยในเวลาต่อมาทฤษฎีทางดาราศาสตร์ ได้รับการยอมรับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ดังรายงานในปี ค.ศ. 1982 รายงานว่า " จากการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว พบว่า การเปลี่ยนแปลงแนววงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ยังคงเป็นกลไกที่สำคัญที่มีอิทธิพลอย่างมากที่สุด ต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระยะเวลา 10,000 ปี และเป็นที่ปรากฎชัดว่า จะมีอิทธิพลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงพลังงานรังสีดวงอาทิตย์ในบรรยากาศชั้นล่างของโลก"
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หากทฤษฎีทางดาราศาสตร์ สามารถอธิบายถึงการเกิดยุคน้ำแข็งได้จริงแล้วเหตุใดธารน้ำแข็ง จึงได้หายไปจากประวัติศาสตร์ของโลก ก่อนหน้าการค้นพบทฤษฎีเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกจะไม่มีคำตอบที่ยอมรับได้อย่างกว้างขวางเหมือนกับทฤษฎีนี้ คำถามนี้นับเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการสนับสนุนข้อสมมุติฐานของ Milankovitch อย่างมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสามารถหาคำตอบที่มีเหตุผลได้แล้วว่าธารน้ำแข็งเกิดขึ้นได้เฉพาะบนพื้นแผ่นดินเท่านั้น นั่นคือ จะต้องเกิดแผ่นดินขึ้นในเขตละติจูดสูงๆ ก่อนเริ่มยุคน้ำแข็งการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ในระยะยาวตามการเปลี่ยนแปลงทางดาราศาสตร์ ไม่มากพอที่จะทำให้ธารน้ำแข็งขยายแผ่ลงมาถึงเขตร้อนได้ ด้วยเหตุนี้ปัจจุบันมีหลายคนเชื่อว่ายุคน้ำแข็งเกิดขึ้น เมื่อเกิดการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกในเฉพาะส่วนที่เคลื่อนที่ออกจากละติจูดเขตร้อนไปยังตำแหน่งทางขั้วโลก
ความแปรผันของพลังงานดวงอาทิตย์กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ในจำนวนข้อสมมุติฐานต่าง ๆ ที่เชื่อว่ามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแนวความคิดที่เกี่ยวกับพลังงานดวงอาทิตย์ก็เป็นข้อสมมุติฐานอย่างหนึ่งที่กล่าวอ้างกันบ่อยมากเนื่องจากดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ดวงหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานที่ดวงอาทิตย์ ปลดปล่อยออกมาจะผันแปรตลอดเวลา อิทธิพลการผันแปรของพลังงานดวงอาทิตย์มีผลโดยตรงต่อบรรยากาศของโลกและสามารถเข้าใจได้ง่าย กล่าวคือ ขณะที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานออกมามากขึ้นจะทำให้บรรยากาศร้อนขึ้น และในทางกลับกัน หากพลังงานดวงอาทิตย์ลดลง บรรยากาศของโลกก็จะเย็นลงตามไปด้วย แนวความคิดนี้กำลังได้รับความสนใจ เพราะว่าสามารถนำมาอธิบายการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศได้ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลายาวนานหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้น ปัญหาที่สำคัญคือยังไม่มีการตรวจวัดความผันแปรความเข้มของพลังงานดวงอาทิตย์ที่ขอบนอกบรรยากาศในระยะยาวมาก่อน เนื่องจากไม่มีเครื่องมือที่ตรวจวัดได้จนกระทั้งถึงยุคเทคโนโลยีดาวเทียมในปัจจุบัน ที่สามารถบันทึกข้อมูลนี้ได้ทำให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของพลังงานรังสีดวงอาทิตย์
มีข้อเสนอมากมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อันเนื่องมาจากการผันแปรพลังงานดวงอาทิตย์ ส่วนใหญ่จะแสดงถึงความสัมพันธ์กับวงจรการเกิดจุดดับบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) คือ ลักษณะหมองมัวดำมืด ที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีแม้ว่าการเกิดยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดก็ตาม แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเกิดเป็นสนามแม่เหล็กมหึมาที่ขยายจากผิวหน้าดวงอาทิตย์ลึกเข้าไปภายในที่ลึกมากยิ่งกว่านั้นสนามแม่เหล็กนี้ยังสามารถผลักดันอนุภาคพลังงาน ให้หลุดออกมาจากดวงอาทิตย์ จนถึงขอบนอกบรรยากาศมีจำนวนมากด้วย
จำนวนจุดดับบนดวงอาทิตย์มากขึ้น - ลดลง อย่างสม่ำเสมอ มีวงโคจรประมาณ 11 ปี โดยเริ่มต้นจาก ค.ศ. 1700 เป็นต้นมาที่สังเกตเห็นว่า วงจรนี้ค่อนข้างสม่ำเสมอเมื่อไม่นานมานี้เองนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งยีนยันว่า วงจรจุดดับดวงอาทิตย์ 11 ปี นั้น เป็นลักษณะที่แน่นอนของดวงอาทิตย์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันเชื่อว่ามีช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่ดวงอาทิตย์ปลอดจากจุดดับหรือจุดหมองมัว และนอกจากจะมีวงจร 11 ปีที่รู้จักกันดีแล้ว ยังมีวงจร 22 ปี อีกวงหนึ่ง วงจรที่ยาวขึ้นนี้ได้จากความจริงที่ว่า การหันไปทางขั้วโลกของสนามแม่เหล็กขณะเกิดจุดดับบนดวงอาทิตย์นั้น จะตรงกันข้ามทุก ๆ 11 ปี อย่างต่อเนื่องกัน นั่นคือ สนามแม่เหล็กที่เกิดจากดวงอาทิตย์ขณะ มีจุดดับจะกลับมายังขั้วโลกเกิดอีกครั้งหนึ่ง ในรอบ 22 ปี
การศึกษาอิทธิพลที่เป็นไปได้ ของพลังงานดวงอาทิตย์ ที่มีต่อภูมิอากาศได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี โดยพยายามหาหลักฐานความสัมพันธ์ตามช่วงเวลาจากวันเป็น 10,000 ปี แต่ยังมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย ดังตัวอย่างข้อโต้แย้งที่แพร่หลายมาก คือ
1. จากการศึกษาพบว่า
ช่วงระยะเวลาที่ไม่มีจุดดับบนดวงอาทิตย์หรือมีน้อยมาก ตรงกับช่วงอากาศหนาวเย็นในยุโรปและอเมริกาเหนือ และในทางกลับกัน ช่วงเวลาที่เกิดจุดดับบนดวงอาทิตย์จำนวนมาก จะสัมพันธ์กับช่วงระยะเวลาที่อากาศร้อนของบริเวณดังกล่าวนี้ด้วย จากความสัมพันธ์ที่ตรงกันนี้นักดาราศาสตร์ John Eddy กล่าวว่า "ผลจากการศึกษาเรื่องนี้สมัยแรก ๆ โดยการเปรียบเทียบความเป็นมาของพลังงานดวงอาทิตย์กับภูมิอากาศของโลก ปรากฎว่า การเปลี่ยนแปลงพลังงานดวงอาทิตย์ เป็นตัวการสำคัญทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะเวลา ระหว่าง 50 ปี ถึงหลายร้อยปี " แต่ยังมีนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ เนื่องจากการศึกษาในเวลาต่อมา โดยการใช้ผลการบันทึกภูมิอากาศที่แตกต่างกันตามท้องที่ต่างๆ รอบโลก ไม่พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างความผันแปรของพลังงานดวงอาทิตย์กับภูมิอากาศยิ่งกว่านั้นยังมีปัญหาจากความจริงที่ว่ายังไม่มีวิธีการภาพที่จะตรวจสอบหรือทดลอง เพื่ออธิบายให้เข้าใจถึงอิทธิพลของปรากฎการณ์นี้ได้
2. จากการศึกษาวงปีของต้นไม้มาเป็นเวลานานพบว่า
พลังงานรังสีดวงอาทิตย์มีความสัมพันธ์กับประมาณหยาดน้ำฟ้ามากกว่าอุณหภูมิ เช่น จากวงปีต้นไม้ พบว่า เกิดความแห้งแล้ง ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ทุก ๆ 22 ปี ซึ่งช่วงระยะเวลานี้ตรงกับวงจรสนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์ในรอบ 22 ปี ดังกล่าวมาแล้ววิธีการนี้ยังมีข้อโต้แย้ง เช่น คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกาโต้แย้งว่า "กลไกตามวิธีการนี้ไม่น่าเชื่อได้ว่า ภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้จะสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพลังงานดวงอาทิตย์ นอกจากนี้วงจรความแห้งแล้งที่พบในวงปีของต้นไม้จะเปลี่ยนไปจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งภายในภูมิภาคอันกว้างขวางที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้"
จะเห็นได้ว่าาถ้าสามารถหาความสัมพันธ์ทางกายภาพ ระหว่างพลังงานดวงอาทิตย์กับบรรยากาศชั้นต่ำได้แล้วจะทำให้ตรวจวัด และเข้าใจถึง ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นซึ่งสภาวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา กำลังศึกษาวิจัยเรื่องนี้อยู่
จากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา ยังไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างความผันแปร ของพลังงานดวงอาทิตย์กับลมฟ้าอากาศที่แน่นอนได้ เนื่องจาก เมื่อนำความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นได้นั้นไปทดสอบทางสถิติ หรือทดสอบกับกลุ่มข้อมูลที่แตกต่างกัน ไม่ได้ผล นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างความผันแปรของพลังงานดวงอาทิตย์ กับภูมิอากาศ ยังคงเป็นหัวข้อที่โต้เถียงและวิจารณ์กันต่อไป