Link Copied
การพยากรณ์อากาศ+
โอโซน+
ปรากฏการณ์เอลนีโญ
ปรากฏการณ์ลานีญา
ปรากฏการณ์เอลโซ่
ภาวะเรือนกระจก Greenhouse effect
ปัจจัยทางธรรมชาติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ภูมิอากาศของประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ+
ฤดูกาล,ฤดูกาลของโลก,ฤดูกาลของประเทศไทย
พายุหมุนเขตร้อน+
ชื่อพายุโซนร้อนปี2565, ดีเปรสชั่น, โซนร้อน, ไต้ฝุ่น
เกณฑ์อากาศ
เวลามาตรฐาน,การประกาศใช้เวลามาตรฐานของประเทศไทย
แผ่นดินไหว+
ภัยธรรมชาติในประเทศไทย
การพยากรณ์อากาศ+
โอโซน+
ปรากฏการณ์เอลนีโญ
ปรากฏการณ์ลานีญา
ปรากฏการณ์เอลโซ่
ภาวะเรือนกระจก Greenhouse effect
ปัจจัยทางธรรมชาติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ภูมิอากาศของประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ+
ฤดูกาล,ฤดูกาลของโลก,ฤดูกาลของประเทศไทย
พายุหมุนเขตร้อน+
ชื่อพายุโซนร้อนปี2565, ดีเปรสชั่น, โซนร้อน, ไต้ฝุ่น
เกณฑ์อากาศ
เวลามาตรฐาน,การประกาศใช้เวลามาตรฐานของประเทศไทย
แผ่นดินไหว+
ภัยธรรมชาติในประเทศไทย
ผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย
พายุหมุนเขตร้อนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ปกคลุมพื้นที่กว้างนับร้อยกิโลเมตรจึงก่อให้เกิดผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในอาณาบริเวณที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านจะได้รับผลกระทบมากที่สุดความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากพายุแปรผันตามความรุนแรงของพายุ เมื่อพายุมีกำลังแรงในขั้นดีเปรสชันความเสียหายส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเนื่องจากฝนตกหนักและอุทกภัยที่เกิดขึ้นตามมา เมื่อพายุมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่น จะมีความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกมากทั้งชีวิตและทรัพย์สินเนื่องจากฝนตกหนัก อุทกภัย ลมพัดแรงจัด ในทะเลมีคลื่นสูงเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ และมีคลื่นซัดฝั่ง พายุหมุนเขตร้อนที่มีความรุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิตได้นับแสนคน ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเมื่อ พ.ศ. 2513 ที่ประเทศบังคลาเทศ ในครั้งนั้นพายุไซโคลนในมหาสมุทรอินเดียมีความรุนแรงมากเคลื่อนตัวผ่านบริเวณแกงจีส์และพรามบุตรา (Ganges-Bramaputra) เมื่อวันที่ 12 - 13 พฤศจิกายน มีผลกระทบต่อประชาชนกว่า 3 ล้านคน ในเนื้อที่กว่า 7,500 ตารางกิโลเมตร มีผู้เสียชีวิตประมาณ 250,000 คน และยังมีอันตรายอย่างอื่นตามมาอีก เช่น ความอดอยากขาดแคลนและโรคระบาด
สำหรับพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพายุดีเปรสชันเนื่องจากพายุอ่อนกำลังลงก่อนถึงประเทศไทย ส่วนที่มีกำลังแรงขนาดพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่นมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยน้อย จากสถิติในรอบ 48 ปีที่ผ่านมามีเพียง 11 ครั้งที่มีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่น (ไม่ถึง 10 เปอร์เซนต์ของจำนวนพายุทั้งหมดที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย) และในจำนวน 11 ครั้งดังกล่าวมีเพียงครั้งเดียวที่พายุเคลื่อนเข้ามา ขณะมีกำลังแรงเป็นไต้ฝุ่น ได้แก่ ไต้ฝุ่น "เกย์" ที่เคลื่อนขึ้นฝั่งจังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532
ในส่วนของประเทศไทยผลกระทบเนื่องจากพายุมีทั้งประโยชน์และโทษ พายุที่อ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชัน มีประโยชน์ในแง่ที่ก่อให้เกิดฝนตกปริมาณมากซึ่งช่วยคลี่คลายสภาวะความแห้งแล้ง และสามารถกักเก็บน้ำไว้ตามแหล่งกักเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อใช้ในช่วงที่มีฝนน้อยในส่วนที่เป็นโทษของพายุดีเปรสชันคืออุทกภัยซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากที่มีฝนตกหนักต่อเนื่องและโรคระบาดที่เกิดตามมาหลังจากเกิดอุทกภัย และเมื่อพายุมีกำลังแรงขนาดพายุโซนร้อนจะมีความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกจากวาตภัยเนื่องจากความเร็วลมตั้งแต่ 34 นอต (62 กม./ชม.) ขึ้นไปจะรุนแรงจนทำให้สิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงเสียหายกิ่งไม้ต้นไม้หักโค่น และหากเป็นไต้ฝุ่นจะยิ่งมีความเสียหายมากขึ้น ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. ต้นไม้ล้มถอนรากถอนโคน
เรือกสวน ไร่นาเสียหาย เสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าขาด ไฟฟ้าช๊อต อาจเกิดเพลิงไหม้ได้
2. บ้านเรือนที่ไม่แข็งแรงพังทลาย ชิ้นส่วนของบ้านถูกลมพายุพัดปลิวเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง บ้านเรือน และผู้คนที่พักอาศัยริมทะเลอาจถูกคลื่นใหญ่ซัดและม้วนลงทะเล
3. ฝนตกหนักมากทั้งวันทั้งคืน จนทำให้เกิดน้ำป่าและแผ่นดินถล่ม
4. ในทะเลมีคลื่นลมแรงจัดมากเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ โดยเฉพาะเรือเล็กและอาจมีคลื่นใหญ่ซัดชายฝั่ง ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมากจนท่วมอาคารบ้านเรือนริมทะเลได้
สถิติพายุที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย
จากข้อมูลในรอบ 48 ปี (พ.ศ. 2494 -2541) ปรากฏว่าพายุเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยได้ตั้งแต่เดือนเมษายนแต่มีโอกาสน้อยมาก โดยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเมื่อ พ.ศ. 2504 พายุจะมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น เป็นลำดับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป และเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่พายุมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมากที่สุด รองลงไปคือเดือนกันยายน