Link Copied
Generalized Monsoon Index (GMI) เป็นค่าดัชนีความแห้งแล้งทางด้านการเกษตร ที่แสดงถึงผลกระทบที่เกิดแก่พืชที่กำลังเจริญเติบโต อันมีสาเหตุเนื่องมาจากการขาดแคลนความชื้น ดังนั้นการวิเคราะห์ค่า GMI จึงทำให้สามารถทราบสภาวะโดยทั่วไปของพืชใช้น้ำฝนที่ปลูกในฤดูมรสุม โดย GMI จะมีค่าขึ้นอยู่กับปริมาณฝนรายเดือนในระหว่างช่วงฤดูมรสุมนั้น ๆ เนื่องจากว่าในช่วงประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคมถือว่าเป็นช่วงที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และเป็นช่วงฤดูเพาะปลูกของพืชโดยทั่วไป ฉะนั้นค่า GMI ที่ใช้ในที่นี้จึงเป็นค่า GMI ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้โดยพิจารณาจากปริมาณฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ค่า GMI ดังกล่าวคำนวณได้จาก
GMI = 0.125 P6 + 0.125 P7 + 0.5 P8 + 0.25 P9
โดย Pi : ฝนรายเดือน (มม.) ของเดือนที่ i (เช่น P6 หมายถึง ฝนของเดือนมิถุนายน)
ค่า GMI ในแต่ละเดือนคำนวณจากสมการดังกล่าว และสะสมทุกสิ้นเดือนที่ทำการประเมินฯ ดังนี้
1.สิ้นเดือนมิถุนายน GMI6 = 0.125 P6
2.สิ้นเดือนกรกฎาคม GMI7 = 0.125 P6 + 0.125 P7
3.สิ้นเดือนสิงหาคม GMI8 = 0.125 P6 + 0.125 P7 + 0.5 P8
4.สิ้นเดือนกันยายน GMI9 = 0.125 P6 + 0.125 P7 + 0.5 P8 + 0.25 P9
ค่า GMI ที่คำนวณได้จะมีหน่วยเป็นมิลลิเมตร อย่างไรก็ตามค่า GMI นี้ สามารถทำให้อยู่ในรูปอื่น ได้ เช่น เปอร์เซนต์ของค่า GMI ปกติ เปอร์เซนต์ไตล์ของลำดับที่ของ GMI ฯลฯ และเพื่อความสะดวกในการกำหนด เกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ในการพิจารณาสภาวะของพืช GMI จะอยู่ในรูปของ percentile rank ซึ่งมีค่าระหว่าง 0 - 100 วิธีการหาค่า percentile rank ของ GMI นั้นหาได้โดยการนำค่าอนุกรมเวลาของ GMI ของแต่ละบริเวณมาเรียงลำดับจากน้อยไปหามาก และคำนวณค่า percentile rank ของ GMI ได้จาก
GMIpct = (r x 100)/(n + 1)
โดย GMIpct: percentile rank ของ GMI
r :ลำดับที่ของค่าข้อมูลดิบ GMI ของปีนั้น ๆ
n :จำนวนปีของข้อมูลของแต่ละสถานี
เกณฑ์ GMIpct ที่ใช้พิจารณาสภาวะของพืช มีดังนี้คือ
เกณฑ์ GMIpct สภาวะของพืช
0 - 20 แล้งจัด (severe drought impact and possible crop failure)
21 - 30 แล้ง (drought impact on crops)
31 - 40 ค่อนข้างแล้ง (moderate drought impact on crops)
41 - 60 ปกติ (normal crops)
61 - 90 ความชื้นสูงกว่าปกติ (possible above normal crops)
91 - 100 ความชื้นเกินความต้องการ (possible excessive moisture)
เกณฑ์ดังกล่าวนี้เป็นเพียงเกณฑ์พื้นฐานในการพิจารณาสภาวะของพืช ส่วนรายละเอียดหรือข้อมูลอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการประเมินฯ เช่น การกระจายของฝน (ฝนราย 10 วัน ฯลฯ) ปฏิทินการเพาะปลูกพืชในแต่ละท้องถิ่น ฯลฯ สามารถจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย