Link Copied
ระบบการพยากรณ์อากาศและการเตือนภัย
การพยากรณ์อากาศจะถูกเผยแพร่ไปสู่ประชาชนทันที หลังจากข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาได้ถูกนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน และเนื่องจากข้อมูลเหล่านี้ จะกระจายไปสู่ประชาชนทุกสาขาอาชีพเป็นประจำทุกวัน ดังนั้น การพยากรณ์อากาศจึงแบ่งออกเป็นพวกใหญ่ ๆ หลายลักษณะ คือ การพยากรณ์อากาศโดยทั่วไป การพยากรณ์อากาศการบิน การพยากรณ์อากาศทางทะเล การพยากรณ์อากาศเพื่อการคมนาคมขนส่ง การพยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร และการพยากรณ์อากาศเพื่อการท่องเที่ยว นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศเตือนภัยทันที เมื่อคาดว่าจะมีลักษณะร้ายเกิดขึ้น เช่น พายุไต้ฝุ่น น้ำท่วมฉับพลัน คลื่นลมแรง เป็นต้น
การพยากรณ์น้ำ
ไอน้ำ เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญยิ่งของชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการเกิดฝน น้ำท่า และน้ำใต้ดิน รวมทั้งทำให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำในโลกมนุษย์ ที่เรียกว่าวัฏจักรของน้ำ (Hydrologic Cycle) น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งสิ่งมีชีวิตจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ถ้าปราศจากน้ำ น้ำไม่เป็นเพียงสิ่งที่สิ่งมีชีวิต เช่น พืชและสัตว์นำไปใช้เท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อกลางในการคมนาคม และเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานที่สำคัญยิ่งแหล่งหนึ่ง จึงนับได้ว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับมนุษยชาติ แต่ในขณะเดียวกัน น้ำก็สามารถก่อให้เกิดโทษอย่างมหันต์ได้เช่นกัน เช่น กรณีที่มีพายุฝน น้ำจะเป็นเหตุที่ทำให้เกิดอุทกภัย และทำความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น การพยากรณ์น้ำเพื่อการเตือนภัย จึงนับเป็นมาตรการที่สำคัญประการหนึ่ง ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถป้องกัน และบรรเทาความเสียหายอันเนื่องมาจากอุทกภัยได้
ปัจจุบันประชากรโลกได้เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทั้งด้านอุปโภค บริโภค และด้านกสิกรรม การบริหารจัดการน้ำที่ดี จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อุทกภัย และภัยแล้งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำในเกือบทุกภูมิภาค ดังนั้นจะเห็นได้ว่า น้ำเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก จึงสมควรที่จะมีการศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติ การเกิด และความรู้เกี่ยวกับเรื่องน้ำที่มีอยู่ในโลกให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อจะได้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิจารณาป้องกัน และพัฒนาแหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
ลุ่มน้ำ
ลุ่มน้ำ (Drainage, Catchment, River Basin, Watershed) หมายถึง บริเวณพื้นที่ที่รับ และระบายน้ำโดยนับรวมตั้งแต่บริเวณต้นน้ำ (Upstream) จนถึงจุดออก (Outlet) หรือปากลำน้ำ (Estury) ดังนั้น การหาพื้นที่หรือขนาดของลุ่มน้ำใดๆ จะมีขนาดเท่ากันหรือแตกต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับการกำหนดจุดออกของลุ่มน้ำเป็นสำคัญ การประมาณค่าของพื้นที่ลุ่มน้ำ ทำได้โดยการวัดพื้นที่ซึ่งล้อมรอบโดยสันปันน้ำในแผนที่ภูมิสาศตร์ พื้นที่ลุ่มน้ำตลอดจนลักษณะภูมิประเทศ สภาพของพืชที่ปกคลุม และลักษณะทางธรณีวิทยาจะมีอิทธิพลทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อปริมาณน้ำท่วม ลักษณะของน้ำท่วม เป็นต้น โดยสามารถแบ่งลุ่มน้ำออกเป็น 4 ชนิด คือ
1. ลุ่มน้ำรูปขนนก (Featherlike Basin) พื้นที่ลุ่มน้ำจะมีขนาดเล็ก และยาวเรียวมีลำน้ำสาขาไหลลงสู่ตัวลำน้ำสายใหญ ่ทั้งสองฝั่ง (ดังรูป) ปริมาณน้ำท่วมจากลุ่มน้ำชนิดนี้จะมีอัตราค่อนข้างต่ำ เพราะว่าระยะเวลาที่ปริมาณน้ำท่วมของลำน้ำสาขาต่างๆ ไหลมาถึงจุดที่พิจารณา หรือบริเวณน้ำท่วมจะไม่เท่ากันหรือไม่ตรงกัน แต่จะเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นเวลานาน
2. ลุ่มน้ำรูปวงกลม (Radial Basin) มีพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีสันปันน้ำเป็นรูปคล้ายพัด หรือรูปวงกลม และมีลำน้ำสาขาไหลลงสู่ลำน้ำสายใหญ่ ที่จุดใดจุดหนึ่งดุจเป็นรัศมีของวงกลม (ดังรูป) ในลุ่มน้ำที่มีลักษณะเช่นนี้ ปริมาณน้ำท่วมจะมารวมกันที่จุดเดียว ทำให้เกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่ใกล้กับจุดบรรจบหรือลุ่มลำน้ำ
3. ลุ่มน้ำรูปขนาน (Parallel Basin) กลุ่มน้ำแยกเป็น 2 ส่วน และมาบรรจบกันในตอนล่างหรือด้านท้ายน้ำ (ดังรูป) และจะเกิดน้ำท่วมบริเวณตอนใต้ของสบแม่น้ำ
4. ลุ่มน้ำรูปผสม (Complexed Basin) หมายถึงลุ่มน้ำที่คุณลักษณะหลายชนิดรวมอยู่ด้วยกัน
การแบ่งแม่น้ำในเชิงอุทกวิทยา โดยพิจารณาตามลักษณะการเกิดน้ำท่วม (flood) เป็นสำคัญได้ 2 ประเภท คือ 1. flashy river ซึ่งเป็นแม่น้ำที่การเกิดน้ำท่วมจะเร็วและรุนแรง เป็นลักษณะน้ำท่วมแบบflash flood
2. sluggish river เป็นแม่น้ำซึ่งการเกิดน้ำท่วมจะช้าและไม่รุนแรง แต่อาจจะใช้เวลานานกว่าน้ำท่วมจะผ่านพ้นไป
รูปฟอร์มของลำน้ำ (Stream Patterns)
พิจารณาตามลักษณะการวางตัวของลำน้ำหรือแม่น้ำสามารถแบ่งรูปฟอร์มของลำน้ำออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. แบบ Meandering Stream ลักษณะลำน้ำจะมีแนวคดเคี้ยวไปมาอย่างเด่นชัด และลักษณะการคดเคี้ยวจะเป็นการโค้งไปมาคล้าย loops ซึ่งอาจจะเป็นแบบที่โค้งไปเท่ากับโค้งกลับ (Symmetry) หรือไม่ก็ได้
รูปแบบของลำน้ำแบบ Meandering Stream
2. แบบ Braided Stream ประกอบด้วยลำน้ำซึ่งแตกออกเป็นหลายทาง โดยมีเกาะอยู่คั่นกลางลำน้ำชนิดนี้ จะมีลักษณะกว้างมากและค่อนข้างจะตื้นด้วย สาเหตุจากการสะสมของตะกอนหยาบ (Coarse Bed Meterial) นั่นเอง
รูปแบบของลำน้ำแบบ Braided Stream
3. แบบ Straight Stream เป็นประเภทลำน้ำที่จัดว่าเป็นเส้นตรง หรือมีการคดเคี้ยวน้อยมาก ซึ่งในธรรมชาติหายากมาก