Link Copied
ถามตอบท้ายบท
ถาม การพยากรณ์อากาศคืออะไร
ตอบ คือการคาดหมายลักษณะอากาศ รวมทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาข้างหน้า ส่วนมากเกี่ยวกับฝน อุณหภูมิ เมฆ หมอก คลื่น เป็นต้น
ถาม การพยากรณ์อากาศสามารถรู้ล่วงหน้าได้นานแค่ไหน
ตอบ ขึ้นกับชนิดของการพยากรณ์ ซึ่งจะแบ่งตามช่วงเวลาได้ 3 ชนิด
1. การพยากรณ์ระยะสั้น จะเป็นการพยากรณ์อากาศในช่วงเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งแบ่งได้เป็น
พยากรณ์อากาศระยะปัจจุบันทราบล่วงหน้าไม่เกิน 3 ชั่วโมง
พยากรณ์ระยะสั้นมากทราบล่วงหน้าไม่เกิน 12 ชั่วโมง
พยากรณ์ระยะสั้น ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
2. การพยากรณ์ระยะปานกลาง จะสามารถพยากรณ์มากกว่า 72 ชั่วโมง จนถึง10 วัน
3. การพยากรณ์ระยะนาน เป็นการพยากรณ์มากกว่า 10 วันขึ้นไป
ถาม ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาที่ต้องทำการตรวจวัดมีอะไรบ้าง และมีหน่วยเป็นอะไร
ตอบ อุตุนิยมวิทยาต้องทำการตรวจวัดข้อมูลดังต่อไปนี้
1. ความกดของบรรยากาศมีหน่วยเป็น " มิลลิบาร์ " (millibars)
2. อุณหภูมิของอากาศ ดินในความลึกระดับต่าง ๆ และน้ำ มีหน่วยเป็น " องศาเซลเซียส " ( 0 C)
3. ความเร็วลมผิวพื้นและชั้นบน มีหน่วยเป็น " น็อต " (knots)
4. ทิศทางลม มีหน่วยเป็น " องศา " (degrees)
5. ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ มีหน่วยเป็น " เปอร์เซ็นต์ " (%)
6. หยาดน้ำฟ้า มีหน่วยเป็น " มิลลิเมตร " (millimeters)
7. การระเหยของน้ำ มีหน่วยเป็น " มิลลิเมตร " (millimeters)
8. ปริมาณรังสี มีหน่วยเป็น " mw / cm2 หรือ cal. Cm-2 . min-1"
9. ความยาวนานของแสงแดด มีหน่วยเป็น " ชั่วโมง "
10. ทัศนวิสัย มีหน่วยเป็น " เมตร หรือ กิโลเมตร "
11. ความสูงของฐานเมฆ มีหน่วยเป็น " เมตร หรือ ฟุต "
ถาม ความกดอากาศ หรือความกดบรรยากาศ คืออะไร และใช้เครื่องมืออะไรตรวจวัด
ตอบ ความกดอากาศ หรือความกดบรรยากาศ คือ น้ำหนักของอากาศที่กดทับลงมาบนพื้นผิวโลก ณ จุดใดจุดหนึ่ง มีลักษณะเป็น column ตั้งแต่เขตสูงสุดของบรรยากาศลงมาถึงผิวโลก ณ จุดนั้นอาจกล่าวได้ว่าความกดอากาศ คือ แรงที่กระทำบนพื้นที่หนึ่งหน่วยนั้นเอง
ถาม เทอร์โมมิเตอร์ตุ้มแห้ง-ตุ้มเปียก คือ เครื่องมืออะไร และทำไมจึงเรียกว่า ตุ้มแห้ง-ตุ้มเปียก
ตอบ เทอร์โมมิเตอร์ตุ้มแห้ง - ตุ้มเปียก เป็นเครื่องมือวัดความชื้นสัมพัทธ์ (Relative humidity) ของอากาศชื่อที่ถูกต้อง คือ " Psychrometer "
ถาม เครื่องมือวัดการแผ่รังสีมีกี่ชนิดอะไรบ้าง
ตอบ เครื่องมือวัดการแผ่รังสี (Radiation instruments) ที่สำคัญมี 5 ชนิด คือ
1. Pyrheliometer คือ เครื่องมือวัดเรดิเอชั่นจากดวงอาทิตย์ที่โลกได้รับโดยตรง
2. Pyranometer คือ เครื่องมือวัดเรดิเอชั่นจากดวงอาทิตย์ที่โลกได้รับในครึ่งโลก
3. Pyrgeometer คือ เครื่องมือวัดเรดิเอชั่นของบรรยากาศแต่อย่างเดียว
4. Pyrradiometer คือ เครื่องมือวัดเรดิเอชั่นรวมของดวงอาทิตย์และโลก
5. Net Pyrradiometer คือ เครื่องมือวัดเรดิเอชั่นรวมทั้งจากดวงอาทิตย์โลก ผิวพื้น และบรรยากาศ
ถาม ปริมาณน้ำฝน (Rainfall Amount) สามารถทำการตรวจวัดอย่างไร ? และใช้เครื่องมืออะไร ?
ตอบ การตรวจวัดปริมาณน้ำฝนเป็นการตรวจวัดความสูงของน้ำฝนที่ตกลงบนพื้นที่ มีหน่วยเป็นหน่วยความสูง เช่น มิลลิเมตร หรือ นิ้ว เป็นต้น การตรวจวัด ใช้เครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝน (Rain Gauge) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
เครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝนแบบธรรมดาหรือแบบไม่บันทึก (Non-recording Rain Gauge)
เครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝนแบบบันทึก (Recording Rain Gauge)
ถาม เครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝนแบบธรรมดาหรือแบบไม่บันทึก (Non-recording Rain Gauge) มีลักษณะและการทำงานอย่างไร ?
ตอบ เครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝนแบบธรรมดาหรือแบบไม่บันทึก (Non-recording Rain Gauge) ประกอบด้วยขาตั้ง (Support) เพื่อรองรับถังรูปทรงกระบอกใหญ่ (Overflow Can) ที่มีกรวยรองรับน้ำฝน (Collector หรือ Receiver) เส้นผ่าศูนย์กลางขนาดมาตรฐาน 8 นิ้ว วางซ้อนทับอยู่ โดยปลายกรวย ใส่ลงในถังรูปทรงกระบอกเล็ก ที่บรรจุภายในถังรูปทรงกระบอกใหญ่ (Overflow Can) (ดังรูป) น้ำฝนเมื่อตกลงในกรวยรองรับแล้ว จะไหลลงเก็บไว้ไปในถังทรงกระบอกเล็ก เพื่อรอการตรวจวัดในเวลาประมาณ 07.00 น. ของแต่ละวัน
วิธีการตรวจวัด
ตรวจวัดโดยเจ้าหน้าที่ทำการเทปริมาณน้ำฝน จากถังทรงกระบอกเล็กใส่แก้วตวง ซึ่งจะมีขีดแสดงขนาดการวัด (Scale) ขีดละ 0.1 มิลลิเมตร โดยหนึ่งแก้วตวงสามารถวัดปริมาณน้ำฝนได้ 10 มิลลิเมตร
ถาม เครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝนแบบบันทึก (Recording Rain Gauge) มีลักษณะการทำงานอย่างไร ? และมีกี่ชนิด ?
ตอบ เครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝนแบบบันทึก (Recording Rain Gauge) เป็นเครื่องมือที่ทำการบันทึกลักษณะการตกของฝนลงบนกระดาษกราฟ ซึ่งมีทั้งชนิดบันทึกแบบรายวัน (Daily) รายสัปดาห์ (Weekly) และรายเดือน (Monthly) โดยทุกแบบจะเริ่มบันทึกตั้งแต่เวลา 07.00 น. เวลาประเทศไทย ซึ่งเทียบเท่ากับเวลามาตรฐานโลกที่ 00Z ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยใช้การบันทึกกราฟฝนแบบรายวัน (Daily Rainfall) ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ถึง 07.00 น. ของวันถัดไป ดังนั้น เจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจวัดจะต้องทำการเปลี่ยนกราฟฝนทุกวันในเวลา 07.00 น.ที่นิยมใช้มี 3 ชนิด ได้แก่
แบบถังกระดก (Tipping Bucket Gauge)
แบบชั่งน้ำหนัก (Weighing Gauge
แบบทุ่นลอย (Float Gauge)
ถาม สถานีฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาทั่วประเทศมีกี่สถานี ?
ตอบ สถานีฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาทั่วประเทศ มีจำนวน 1,114 สถานี (สำรวจเมื่อเดือนตุลาคม 2543)
ถาม วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถานีฝน คืออะไร ?
ตอบ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถานีฝน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลน้ำฝนสำหรับงานด้านพัฒนาแหล่งน้ำ การพยากรณ์น้ำ การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย และงานศึกษาวิจัยต่างๆ เป็นต้น
ถาม การกำหนดเครือข่ายสถานีวัดน้ำฝน มีหลักการดำเนินการอย่างไร ?
ตอบ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกให้คำแนะนำในการจัดเครือข่ายสถานีวัดน้ำฝนไว้ ดังนี้
1. ในพื้นที่ค่อนข้างเรียบแถบเมดิเตอร์เรเนียนหรือแถบโซนร้อน ความหนาแน่นของสถานีวัดน้ำฝนประมาณ 600-900 ตารางกิโลเมตรต่อสถานี
2. ในพื้นที่หุบเขาแถบเมดิเตอร์เรเนียนหรือแถบโซนร้อน ความหนาแน่นของสถานีวัดน้ำฝนประมาณ 100-250 ตารางกิโลเมตรต่อสถานี
3. ในพื้นที่บริเวณเกาะเล็กๆ และเต็มไปด้วยภูเขา มีสภาพฝนตกไม่สม่ำเสมอและไม่แน่นอน ความหนาแน่นของสถานีวัดน้ำฝนประมาณ 25 ตารางกิโลเมตรต่อสถานี
4. สำหรับบริเวณที่ค่อนข้างแห้งแล้งและแถบขั้วโลก ความหนาแน่นของสถานีวัดน้ำฝนประมาณ 1,500-10,000 ตารางกิโลเมตรต่อสถานี
แต่ทั้งนี้ในการกำหนดเครือข่ายความหนาแน่นของสถานีวัดน้ำฝนในแต่ละพื้นที่นั้น จะต้องใช้ข้อมูล ดังต่อไปนี้ประกอบการพิจารณา คือ งบประมาณ , วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย ,ความคล้ายคลึงและแตกต่างของสภาพดินฟ้าอากาศ ,สภาพธรรมชาติของพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง
ถาม สาเหตุที่ทำให้การวัดปริมาณน้ำฝนมีความคลาดเคลื่อนนั้น เกิดจากอะไร ?
ตอบ สาเหตุที่ทำให้การวัดปริมาณน้ำฝนมีความคลาดเคลื่อนนั้น เกิดจาก
1. เครื่องมือมีความคลาดเคลื่อน
2. การติดตั้งอุปกรณ์ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
3. ผู้ตรวจวัดอ่านค่าไม่ถูกต้อง
4. กระแสลมแรงทำให้เม็ดฝนไม่ตกลงในถังวัด
ถาม กรมอุตุนิยมวิทยามีการตรวจวัดวัดระดับน้ำและอัตราการไหลของน้ำที่ลุ่มน้ำใดบ้าง ?
ตอบ สำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2543 มี 16 สถานี ได้แก่ ลุ่มน้ำน่าน ป่าสัก แม่กลอง ชี มูล ปราจีนบุรี ตาปี และ ลุ่มน้ำอู่ตะเภา
ถามการวัดระดับน้ำ (Water Level หรือ Water Stage) หมายถึงอะไร ? และมีเครื่องมือวัดอะไรบ้าง ?
ตอบการวัดระดับน้ำ (Water Level หรือ Water Stage) หมายถึง การหาค่าระดับความสูงของผิวน้ำเหนือจุดศูนย์ของน้ำ (Zero Datum) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนิยมใช้เทียบระดับน้ำทะเลปานกลาง (Mean Sea Level : MSL) มีหน่วยเป็นหน่วยความสูง เช่น เมตร นิ้ว เป็นต้น การวัดระดับน้ำนั้นมี 2 ชนิด คือ
1. แบบธรรมดาหรือแบบไม่บันทึก (Non – recording Gauge or Manual Gauge)
2. แบบบันทึก (Recording Gauge)
ถาม เครื่องมือวัดระดับน้ำแบบธรรมดาหรือแบบไม่บันทึก (Staff Gauge) ที่นิยมใช้มีอะไรบ้าง ?
ตอบ เครื่องมือวัดระดับน้ำแบบธรรมดาหรือแบบไม่บันทึก (Staff Gauge) ที่นิยมใช้มี 4 ชนิด ได้แก่
1. เสาบันทัดแบบดิ่งอันเดียว (Vertical Staff Gauge)
2. เสาบันทัดแบบดิ่งปักเป็นตอน (Sectional Staff Gauge)
3. เสาบันทัดแบบเอียงตามความลาดชันของตลิ่ง (Inclined Staff Gauge)
4. เครื่องวัดระดับน้ำแบบใช้ตุ้มน้ำหนัก (Wire-weight Gauge)
เสาบันทัดแบบดิ่งปักเป็นตอน (Sectional Staff Gauge)
ถาม เครื่องมือวัดระดับน้ำแบบบันทึก (Recording Gauge) มีกี่ชนิด ? อะไรบ้าง ?
ตอบ เครื่องมือวัดระดับน้ำแบบบันทึก (Recording Gauge) มี 3 ชนิด ได้แก่
1. แบบทุ่นลอย (Float-type Water Stage Recorder หรือ Conventional Gauge หรือ Conventional Stilling Well)
2. แบบฟองแก๊ส (Bubble Gauge)
3. แบบความดัน (Pressure Transducer)
ถาม อัตราการไหลของน้ำ (Water Discharge) หมายถึงอะไร ? ตรวจวัดอย่างไร ?
ตอบ อัตราการไหลของน้ำ หมายถึง ความเร็วของปริมาณน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่หน้าตัดขวางของลำน้ำในหนึ่งหน่วยเวลา มีหน่วยเป็น ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือ ลูกบาศก์ฟุตต่อวินาที วิธีการตรวจวัดมี 4 วิธี ได้แก่
1. วิธีความเร็ว-พื้นที่หน้าตัด (Velocity-area Method)
2. วิธีใช้สารเคมี (Chemical Gauging)
3. วิธีการใช้ทุ่น
4. วิธีการคำนวณจากสูตร (Indirect Method)
ถาม เครื่องมือวัดความเร็วน้ำ หรือ กระแสน้ำ (Current Meter) มีกี่ชนิด ? อะไรบ้าง ?
ตอบ เครื่องมือวัดความเร็วน้ำ หรือ กระแสน้ำ (Current Meter) มี 2 ชนิด ได้แก่
1. แบบลูกถ้วย (Cup Type)
2. แบบใบพัด (Propeller Type)
ถาม เรดาร์ตรวจอากาศตรวจวัดฝนในรูปแบบใด
ตอบ เรดาร์ตรวจอากาศตรวจวัดฝนในรูปของความแรงมีหน่วยเป็น มม / ชม. ดังนี้
ฝนกำลังอ่อน ความแรง 0.1 - 5.0 มม / ชม.
ฝนกำลังปานกลาง ความแรง 5.1 - 25.0 มม / ชม.
ฝนกำลังแรง ความแรง 25.1 - 50.0 มม / ชม.
ฝนกำลังแรงมาก ความแรง 50.1 ขึ้นไป มม / ชม.
ถาม เรดาร์ตรวจอากาศมีหลักการทำงานอย่างไร
ตอบ เรดาร์ตรวจอากาศโดยทั่วๆไปมีหลักการทำงานคือ เรดาร์จะส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาในรูป PULSE มีช่วงสั้นโดยออกจากเครื่องส่งไปยังจานสายอากาศ เมื่อกระทบเป้าจะเกิดการสะท้อนกลับมายังจานสายอากาศ เข้าสู่ภาคเครื่องรับ ซึ่งความแตกต่างระหว่างเวลาที่ส่ง และรับของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เราสามารถหาระยะทางของเป้าว่าอยู่ห่างจากสถานีเรดาร์เท่าไหร่ นอกจากนี้ยังสามารถหาความสูงของเป้าได้ โดยการหมุนของจานสายอากาศ
ถาม เรดาร์ตรวจอากาศธรรมดากับเรดาร์ตรวจอากาศแบบ DOPPLER แตกต่างกันอย่างไร
ตอบ เรดาร์ตรวจอากาศธรรมดาสามารถตรวจหาตำแหน่งและความเข้มหรือวัดปริมาณฝนได้ ซึ่งเรดาร์ตรวจอากาศแบบ DOPPLER ก็สามารถตรวจวัดได้เช่นกัน แต่ยังสามารถตรวจการเคลื่อนที่ภายในเป้าและกระแสลมแวดล้อมเป้าได้อีกด้วย
ถาม เรดาร์ตรวจอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยามีตั้งแต่เมื่อใด
ตอบ เรดาร์ตรวจอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยามีตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นเรดาร์ตรวจอากาศแบบธรรมดาในปัจจุบันนี้ ได้ปรับปรุงเป็นเรดาร์ตรวจอากาศแบบ DOPPLER ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ถาม ประโยชน์ของเรดาร์ตรวจอากาศมีอะไรบ้าง
ตอบ เรดาร์ตรวจอากาศมีประโยชน์หลักๆในการใช้งานดังนี้
1.ติดตามการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝนหรือการเคลื่อนตัวของพายุหมุนเขตร้อนเมื่อเข้ามาในรัศมีหวังผลของเรดาร์ตรวจอากาศ และแจ้งเตือนให้ประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ
2.ตรวจหาตำแหน่งและความแรงของกลุ่มฝนที่ปกคลุมพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง อันนำไปสู่การพยากรณ์น้ำท่วมฉับพลันได้
3.ข้อมูลที่ได้จากเรดาร์ สามารถทำการพยากรณ์อากาศระยะสั้นมากในเวลา 1 - 3 ชั่วโมง
4.ข้อมูลที่ได้จากเรดาร์เมื่อนำมาวิเคราะห์กระแสลมที่อยู่ในเมฆก่อตัวทางแนวตั้งเป็นประโยชน์มากในทางการบิน โดยสามารถแจ้งเตือนลักษณะอากาศร้ายที่ปกคลุมอยู่ในบริเวณสนามบินแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้
ถาม ในปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยามีเรดาร์ตรวจอากาศจำนวนเท่าไร และที่ใดบ้าง
ตอบ กรมอุตุนิยมวิทยามีเรดาร์แบบ DOPPLER จำนวน 20 เครื่องกระจายอยู่ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศดังนี้คือ จ.เชียงราย จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ จ.พิษณุโลก จ.สกลนคร จ.ขอนแก่น จ.อุบลราชธานี จ.สุรินทร์ ดอนเมือง (กทม.) กรมอุตุนิยมวิทยา ( กทม. ) จ.ระยอง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.ระนอง จ.ภูเก็ต จ.ตรัง จ.สงขลา จ.นราธิวาส และ เรดาร์เคลื่อนที่
ถาม การดูกลุ่มฝนในจอเรดาร์มีวิธีการดูอย่างไร
ตอบ วิธีดูกลุ่มฝนอย่างง่ายๆดังแสดงในรูปที่ 1
รูปที่ 1 แสดงลักษณะของกลุ่มฝน ลักษณะของกลุ่มฝนจะเป็นชั้นๆโดยมีค่าความแรงมากที่สุดของกลุ่มฝนอยู่ชั้นในสุด ถัดออกมาค่าความแรงของฝนจะอ่อนลงและชั้นนอกสุดจะมีค่าความแรงของฝนน้อยที่สุด ซึ่งลักษณะของกลุ่มฝนจะต้องมีชั้นของกลุ่มฝนตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นภาพของกลุ่มฝนจริงที่ ปรากฎในจอเรดาร์
รูปที่ 2 แสดงลักษณะของฝนจริงที่ปรากฎ บนจอเรดาร์
จากรูปที่ 2 มีภาพปรากฎอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่ม A เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่ากลุ่ม A มีลักษณะเป็นชั้นๆใกล้เคียงกับรูปที่ 1 ดังนั้นกลุ่ม A คือกลุ่มฝน กลุ่มที่สองคือกลุ่ม B เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่ากลุ่ม B ไม่มีลักษณะเป็นชั้นๆมีเพียงชั้นเดียวดังนั้นกลุ่ม B ไม่ใช่กลุ่มฝน
ถาม การเคลื่อนตัวของกลุ่มฝนมีวิธีดูอย่างไร
ตอบ เมื่อปรากฎกลุ่มฝนในจอเรดาร์เราสามารถดูการเคลื่อนตัวได้ดังนี้
1. เครื่องหมาย - ( ลบ ) แทนการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝนเข้าหาสถานีเรดาร์ตรวจอากาศ
2. เครื่องหมาย + ( บวก ) แทนการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝนออกจากสถานีเรดาร์ตรวจอากาศ
รูปที่ 3 ภาพตัวอย่างการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝนจริงในจอเรดาร์
จากรูปที่ 3 จุดสีดำที่อยู่ใจกลางภาพเป็นสถานที่ตั้งของเรดาร์ตรวจอากาศโดยในภาพนี้จะมีกลุ่มฝนอยู่ 2 กลุ่มคือกลุ่ม X และกลุ่ม Y ซึ่งสีของกลุ่ม X เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับแถบสีที่แสดงทางด้านขวามือจะมีค่าเป็นเครื่องหมาย - นั่นแสดงว่ากลุ่มฝนกลุ่ม X กำลังเคลื่อนตัวเข้าหาสถานีเรดาร์ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนสีของกลุ่ม Y เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับแถบสีที่แสดงทางด้านขวามือจะมีค่าเป็นเครื่องหมาย + นั่นแสดงว่ากลุ่มฝนกลุ่ม Y กำลังเคลื่อนตัวออกจากสถานีเรดาร์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
ถาม ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาได้ปล่อยขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อใด
ตอบ เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1960 ชื่อ TIROS - 1 ( Television and Infrared Observational Satellite ) ซึ่งเป็นดาวเทียมของประเทศสหรัฐอเมริกา
ถาม กรมอุตุนิยมวิทยาติดตั้งเครื่องรับภาพดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ครั้งแรกเมื่อใด
ตอบ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2513 จากดาวเทียม ITOS (IMPROVED TIROS OPERATION SATELLITE) ซึ่งเป็นดาวเทียมที่โคจรรอบโลกในแนวเหนือ-ใต้ (POLAR ORBITING SATELLITE หรือ LOW EARTH ORBIT-LEO) โคจรอยู่เหนือพื้นโลกในระดับความสูง 750 กม.
ถาม ในปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยารับสัญญาณดาวเทียมระบบใดบ้าง
ตอบ 2 ระบบ คือ ดาวเทียมชนิดวงโคจรค้างฟ้า โดยรับสัญญาณจากดาวเทียม GMS - 5 ของประเทศญี่ปุ่น และดาวเทียมชนิดวงโคจรรอบโลก โดยรับสัญญาณดาวเทียม NOAA Series 12, 14 ของสหรัฐอเมริกา
ถาม ภาพดาวเทียมในช่วงคลื่น Visible กับ Infrared มีความแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ ช่วงคลื่น Visible อาศัยหลักการสะท้อน(Reflection) ของรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ใช้ในการตรวจวัดรายละเอียดของเมฆและลักษณะของพื้นโลก ถ้าเมฆมีความหนามากจะสะท้อนคลื่นแสงได้มาก ภาพเมฆที่ปรากฎบนแผ่นภาพจะมีสีขาวเข้ม แต่ถ้าเมฆบางจะสะท้อนคลื่นแสงได้น้อย ภาพเมฆที่ปรากฎบนแผ่นภาพจะมีสีขาวจางๆ ภาพ VIS จะมีเฉพาะในเวลากลางวันเมื่อดวงอาทิตย์ แผ่รังสีมากระทบพื้นโลกเท่านั้น ส่วนช่วงคลื่น Infrared โดยใช้หลักการวัดการแผ่รังสี ( Emission )ของ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ใช้ในการตรวจสภาพทางฟิสิกส์ของบรรยากาศและพื้นโลก เช่น อุณหภูมิยอดเมฆและอุณหภูมิของพื้นผิวโลก ถ้าเมฆมีอุณหภูมิเย็นจัด ภาพเมฆที่ปรากฏบนแผ่นภาพจะมีสีขาวเข้ม แต่ถ้าเมฆมีอุณหภูมิเย็นน้อยกว่าภาพเมฆที่ปรากฏมีสีขาวจางๆ ภาพ IR จะมีตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน
ถาม การแปลภาพดาวเทียมในช่วงคลื่น Visible กับ Infrared มีความแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ ความแตกต่างของความสว่าง(brightness) ในช่วงคลื่น Visible จะเป็นตัวแทนของความแตกต่างการสะท้อนแสง และความแตกต่างของความสว่าง (Brightness) ในช่วงคลื่น Infrared จะเป็นตัวแทนของความแตกต่างของอุณหภูมิซึ่งวัตถุแผ่ออกมา
ถาม ดาวเทียม NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) ตรวจวัดสารประกอบใดบ้าง
ตอบ ตรวจวัดสารประกอบในช่วงคลื่นต่างๆ ดังนี้ คือ
ช่วงคลื่นที่ 1 : Visible ความยาวคลื่น 0.58 - 0.68 m ใช้ในการศึกษาเมฆชั้นต่ำ(เฉพาะกลางวัน), พืช, แหล่งน้ำผิวดินและตะกอนในน้ำทะเล
ช่วงคลื่นที่ 2 : Near Infrared ความยาวคลื่น 0.725 - 1.10 m ใช้ในการศึกษาเมฆชั้นต่ำ(เฉพาะกลางวัน), พืช, แหล่งน้ำผิวดิน และพืชที่น้ำท่วม
ช่วงคลื่นที่ 3 : Thermal Infrared ความยาวคลื่น 3.5 - 3.9 m ใช้ในศึกษาเมฆ (ทั้งกลางวัน - กลางคืน), อุณหภูมิผิวน้ำทะเลและไฟป่า
ช่วงคลื่นที่ 4 : Middle Infrared ความยาวคลื่น 10.5 - 11.5 m ใช้ในการศึกษาเมฆชนิดต่างๆ (ทั้งกลางวัน - กลางคืน), อุณหภูมิผิวน้ำทะเลและไฟป่า
ช่วงคลื่นที่ 5 : Far Infrared ความยาวคลื่น 11.5 - 12.5 m ใช้ในศึกษาหิมะ, เมฆ(ทั้งกลางวัน - กลางคืน), อุณหภูมิผิวน้ำทะเลและไฟป่า
ถาม ประโยชน์ของดาวเทียมอุตุนิยมวิทยามีอะไรบ้าง
ตอบ 1. ใช้ในการตรวจสารประกอบทางอุตุนิยมวิทยาในระยะไกล(Meteorology Information Remote Sensing) เช่น การตรวจเมฆ ทิศทางการเคลื่อนที่ของเมฆ ตรวจอุณหภูมิยอดเมฆ อุณหภูมิผิวพื้นโลก อุณหภูมิผิวน้ำทะเลและความชื้นของบรรยากาศโลกตามระดับความสูงต่างๆ ตรวจโอโซน รังสีดวงอาทิตย์ ตรวจหิมะและน้ำแข็งที่ปกคลุมโลก เป็นต้น
2. ประโยชน์ในการรวบรวมข้อมูล รับ-ส่งข้อมูลทางด้านอุตุนิยมวิทยาที่ตรวจได้จากสถานีเคลื่อนที่ Data Collection Platform(DCP) หรือสถานีตรวจอัตโนมัติ ทั้งภาคพื้นดินและในน้ำ เช่น ทุ่นลอย เรือ รวมทั้งเครื่องบิน เป็นต้น
3. ประโยชน์ในการกระจายข่าว(Direct Broadcast) ส่งข่าวสารด้านอุตุนิยมวิทยาไปยัง ประเทศสมาชิกหรือผู้ใช้ข้อมูลโดยตรง โดยระบบโทรคมนาคมทั่วโลก Global Telecommunications System (GTS)
ถาม การพยากรณ์อากาศประจำวันต่างกับการพยากรณ์อากาศเกษตรอย่างไร
ตอบ การพยากรณ์อากาศประจำวันเป็นการคาดหมายลักษณะอากาศใน 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่าใน แต่ละภาคเป็นอย่างไร เพื่อนำไปประกอบการทำภาระกิจในแต่ละวัน แต่การพยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรเป็นการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า 7 วัน ทำให้ทราบว่าลักษณะอากาศใน 7 วันข้างหน้าในแต่ละภาคเป็นอย่างไร พร้อมทั้งคำเตือน คำแนะนำ ให้แก่เกษตรกรว่าควรปฏิบัติอย่างไร ฉะนั้นข่าวพยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร จึงมีประโยชน์สำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจในด้านการเกษตร สำหรับใช้ในการวางแผนในการเกษตร และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เพื่อมุ่งให้ได้ผลผลิตสูงสุด สำหรับการพยากรณ์อากาศเกษตร จะออกเผยแพร่ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ( สัปดาห์ละ 2 ครั้ง )
ถาม กรมอุตุนิยมวิทยามีข้อมูลอะไรบ้างที่มีประโยชน์ต่อการเกษตร
ตอบ นอกจากทำการตรวจวัดสารประกอบทางอุตุนิยมวิทยา เพื่อการพยากรณ์อากาศแล้วยังมีการตรวจวัด อุณหภูมิดิน ความยาวนานของแสงแดด การระเหยของน้ำ อุณหภูมิน้ำ น้ำค้าง
อุณหภูมิต่ำสุดยอดหญ้า การตรวจพิเศษเฉพาะอุณหภูมิและความชื้นบริเวณอากาศใกล้พื้นดิน การตรวจการเปลี่ยนแปลงของพืชและสัตว์ในฤดูกาลต่างๆ การตรวจความเข้มของรังสีดวงอาทิตย์ ซึ่งสารประกอบดังกล่าวมีประโยชน์ในการวิเคราะห์ วิจัย ในด้านการเกษตรมากมาย
ถาม จะทราบได้อย่างไรว่าปริมาณฝน 1 มิลลิเมตร มากน้อยเท่าไร
ตอบ สำหรับความสูงของฝน 1 มิลลิเมตร ถ้าจะคำนวณเป็นปริมาตรได้เท่ากับนำน้ำ 1 ลิตรไปเทลงในพื้นที่ 1 ตารางเมตรโดยไม่ให้มีการซึมลงใต้ดิน ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรมีพื้นที่ 1 ไร่ ถ้าฝนตกวันละ 1 มิลลิเมตร จะได้ปริมาณน้ำเท่ากับ 1600 ลิตร แต่ถ้าฝนตกวันละ 5 มิลลิเมตร จะได้ปริมาณน้ำเท่ากับ 8000 ลิตร หรือ 8 ลูกบาศก์เมตร เป็นต้น เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เกษตรกรก็สามารถจะนำไปอนุมานได้ว่า ฝนที่ตกในแต่ละวันพอเพียงกับความต้องการของพืชหรือไม่ โดยพิจารณาจากความต้องการของพืชแต่ละชนิดว่าต้องการน้ำวันละกี่มิลลิเมตร ถ้าไม่เพียงพอจะเพิ่มน้ำให้แก่พืชอีกเท่าไร
ถาม การตรวจวัดความยาวนานของแสงแดด เพื่ออะไร
ตอบ ความยาวนานของแสงแดดในแต่ละวัน หน่วยเป็นชั่วโมง ตรวจวัดด้วยเครื่องมือ เรียกว่า Campbell-Stokes sunshine-duration recorder โดยมีกระดาษกราฟพิเศษซึ่งออกแบบ เพื่อการตรวจวัดความยาวนานของแสงแดดโดยเฉพาะ เนื่องจากความยาวนานของแสงแดด มีความสำคัญต่อการออกดอกของพืช อาศัยหลักเกณฑ์นี้สามารถแบ่งพืชออกเป็น 3 กลุ่ม คือ พืชวันยาว ( long-day plant ) พืชวันสั้น ( short-day plant ) และ พืชที่ออกดอกได้ทุกฤดู ( day-neutral plant ) ซึ่งมีประโยชน์ในการเลือกปลูกพืชให้เหมาะแก่ท้องถิ่น วางแผนการปลูกพืช และการเพิ่มผลผลิตของพืชนอกฤดูกาล โดยการเพิ่มแสงทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วย ทำให้สามารถกำหนดระยะเวลาการออกดอกของพืชได้
ถาม ข่าวพยากรณ์อากาศมีประโยชน์ต่อการพ่นยากำจัดศัตรูพืชอย่างไร
ตอบ มี ! เนื่องจากลักษณะอากาศ เช่น ฝน ลม และอุณหภูมิมีความสำคัญในการฉีดพ่นยา ความเร็วลมที่เกินกว่า 14 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะทำให้ตัวยากระจัดกระจายมาก โดยเฉพาะในช่วงบ่ายมีแดดจัด กระแสอากาศจะไหลขึ้นเบื้องบน อย่างรวดเร็วไม่เหมาะแก่การฉีดพ่นยา อุณหภูมิสูงจะทำให้สารเคมีที่ เป็นตัวยาบางชนิดสลาย ตัวได้ง่ายและได้ผลเพียงระยะสั้นๆ แต่สารเคมีบางตัวมีประสิทธิภาพสูงเมื่อมีอุณหภูมิสูง ดังนั้นจึงควรเลือกเวลาฉีดพ่นยาให้เหมาะสมกับสารเคมีที่ใช้ ส่วนฝนที่ตกลงมาภายหลัง การฉีดพ่นยาจะทำให้สารเคมีถูกชะล้างไปหมด ทำให้สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ โดยปกติการฉีดพ่นยาควรให้สารเคมีเกาะติด กับลำต้นหรือใบพืชอย่างน้อยเป็นเวลา 18 ชั่วโมงจึงจะได้ผล
ถาม เกษตรกรจะป้องกันความเสียหายจากอากาศหนาวจัดได้อย่างไร
ตอบ วิธีป้องกันในวันที่เกิดน้ำค้างแข็ง หรือมีอากาศหนาวจัดได้หลายวิธี คือ โดยใช้พัดลมขนาดใหญ่เป่าให้อากาศถ่ายเท ใช้เตาบรรจุเชื้อเพลิงเผาไหม้ให้ความร้อน หรืออาจใช้ควบคู่กันทั้ง 2 อย่าง เพื่อช่วยเพิ่มอุณหภูมิในเรือกสวนไร่นา บางแห่งอาจใช้วิธีฉีดพ่นน้ำให้เป็นฝอย เพื่อให้น้ำคายความร้อนแฝงออกมา แต่วิธีดังกล่าวอาจต้องลงทุนค่อนข้างสูง โดยวิธีธรรมชาติ เช่น ดูแลเรือกสวนไร่นาให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ปลูกพืชหนาแน่นเกินไป ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีสีคล้ำช่วยดูดความร้อนจากแสงแดด สำหรับสัตว์เลี้ยงให้ความอบอุ่นอย่างเพียงพอ โดยสุมไฟให้สัตว์ที่อยู่ในคอกหรือเล้า ส่วนในโรงเรือนควรให้ดวงไฟเพิ่มความอบอุ่น และทำสิ่งกำบังลมหนาว โดยเฉพาะโรงเรือนที่โปร่ง
ถาม อุณหภูมิน้ำมีความสำคัญต่อการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำอย่างไร
ตอบ อุณหภูมิน้ำเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งต่อการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการ เจริญเติบโตในบ่อเลี้ยงประมาณ 25-33 องศาเซลเซียส ( Boyd 1982 ) พบว่าถ้าอุณหภูมิของน้ำสูงเกินไปจะ ทำให้กุ้งเจริญเติบโตช้า เนื่องจากออกซิเจนในน้ำน้อยลง แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำเกินไปกุ้งจะกินอาหารน้อยลง ทำให้ปริมาณอาหารเหลือมาก มีผลต่อคุณภาพน้ำ ทำให้น้ำเน่าเสีย นอกจากนี้ยังทำให้สัตว์น้ำเป็นโรค ได้ง่าย และกุ้งจะตายหากอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส
ถาม น้ำค้างแข็ง หรือแม่คะนิ้ง คืออะไร มีอันตรายต่อการเกษตรไหม
ตอบ น้ำค้างแข็ง ภาษาพื้นเมืองทางภาคเหนือ เรียกว่า “เหมยขาบ” ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า “แม่คะนิ้ง” คือผลึกน้ำแข็งที่เกิดขึ้นเนื่องจาก ไอน้ำในอากาศใกล้ผิวดินลดอุณหภูมิลงถึงอุณหภูมิจุดน้ำค้าง ( Dew point temperature ) แล้วกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ต่อจากนั้นอุณหภูมิยังคงลดต่อไปอีกจนต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ทำให้น้ำค้างแข็งตัว กลายเป็นน้ำค้างแข็ง ซึ่งจะทำความเสียหายแก่พืชไร่และผักต่างๆ เช่น ข้าวที่กำลังออกรวงก็จะมีเมล็ดลีบ พืชไร่จะชะงักการเจริญเติบโต พืชผักใบจะหงิกงอ ไหม้เกรียม กล้วย มะพร้าว และทุเรียนใบจะแห้งร่วง ถ้าเกิดติดต่อกันหลายวันก็จะทำความเสียหายแก่พืชที่ปลูกได้มากขึ้น
ถาม เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมาตรงศีรษะ อากาศจะร้อนที่สุดจริงหรือไม่
ตอบ ไม่จริงเสมอไป แม้ว่าการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนมาตรงศีรษะพอดีในตอนเที่ยงวัน จะทำให้บริเวณนั้นมีโอกาสได้รับรังสีดวงอาทิตย์มากก็ตาม แต่หากท้องฟ้ามีเมฆครึ้มปกคลุม พื้นโลกก็จะได้รับรังสีลดลง หรือถ้าเป็นวันที่มีฝนตกหรือลมแรง ต่างสามารถส่งผลให้อุณหภูมิอากาศไม่สูงอย่างที่ควรจะเป็น
ถ้าเราอาศัยอยู่ระหว่างละติจูด 23.5 องศาเหนือและใต้ ในรอบหนึ่งปีจะมี 2 วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนมาตรงศีรษะเราพอดีในตอนเที่ยงวัน เช่น แม่โจ้ ( เชียงใหม่ ) 16 พฤษภาคม และ 29 กรกฎาคม อุบลราชธานี 2 พฤษภาคม และ 12 สิงหาคม บางนา ( กรุงเทพฯ ) 27 เมษายน และ 29 สิงหาคม หาดใหญ่ (สงขลา ) 8 เมษายน และ 5 กันยายน
ถาม สารประกอบอุตุนิยมวิทยาอะไรบ้างที่สำคัญต่อการบิน
ตอบ สารประกอบอุตุนิยมวิทยาที่มีความสำคัญ ต่อการปฏิบัติการในการบินได้แก่ ลม ทัศนะวิสัย ความกดอากาศ เมฆ อุณหภูมิ ความชื้นของอากาศ และ หยาดน้ำฟ้า
ถาม ลม (Wind) มีความสำคัญต่อการบินอย่างไร
ตอบ ลมผิวพื้นที่ระดับความสูง 6-10 เมตรจากพื้นผิวโลก มีความสำคัญมากต่อการนำเครื่องบินขึ้น-ลงสนามบิน โดยได้กำหนดให้นำเครื่องบินขึ้น-ลงสนามบินในทิศทางสวนกับทิศทางของลมผิวพื้นเสมอ เพราะจะช่วยให้เครื่องบินยกตัวได้ดีขึ้น บรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้น และใช้ทางลงสั้นลง
ถาม วินเชียร์ (Wind shear) คืออะไร มีอันตรายต่อการบินอย่างไร
ตอบ วินเชียร์ คือ การเปลี่ยนแปลงความเร็ว และ/หรือ ทิศทางของลมในระยะสั้น ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในแนวนอนและแนวดิ่ง หรือเกิดพร้อม ๆ กันทั้ง 2 แนว บางครั้งเกิดร่วมกับปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันในระดับต่ำ วินเชียร์เกิดขึ้นได้ทุกระดับความสูง ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของลมเป็นวงกลม (Eddies) ทำให้เกิดความปั่นป่วนรุนแรง ตามความรุนแรงของวินเชียร์ วินเชียร์ที่กระทบกระเทือน และเป็นอันตรายมากต่อการบิน ได้แก่วินเชียร์ที่เกิดขึ้นในระดับต่ำ ๆ สูงจากทางวิ่งของสนามบิน (Runway) ไม่เกิน 500 เมตร (1500 ฟุต) สวนใหญ่แล้ววินเชียร์ที่มีอันตรายต่อการบิน ในอากาศบ้านเราจะเกิดจากพายุฝนฟ้าคะนอง เท่านั้น
ถาม กระแสลมกรด (Jet Stream) คืออะไร มีอันตรายต่อการบินอย่างไร
ตอบ กระแสลมกรด คือ บริเวณแนวแคบ ๆ ของกระแสลมชั้นบน ที่มีความรุนแรง โดยจะมีความเร็วของลมตั้งแต่ 60 นอต ขึ้นไป และจะมีความเร็วของสูงสุดอยู่บริเวณตรงกลาง จะพบในบริเวณตอนบนของชั้นบรรยากาศโทรโปสสเฟียร์ หรือบริเวณตอนล่างของชั้นบรรยากาศสตราโตรสเฟียร์ อันตรายของกระแสลมกรดต่อ เครื่องบินที่กำลังทำการบินโดย เฉพาะเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ทำการบินในระดับสูง ๆ เมื่อเครื่องบินเข้าสัมผัสกับแนวกระแสลมกรด จะประสพกับความปั่นป่วนของอากาศอย่างรุนแรง อันเกิดจากวินเชียร์ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน และอันตรายจากความเร็วของลม ดังนั้นก่อนทำการบินทุกครั้ง นักบินจะต้องศึกษา ตำแหน่งและบริเวณความรุนแรงของลม ในแนวของกระแสลมกรด ให้ละเอียดจากเอกสารประกอบการบิน (Flight Folder) และข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดอันตรายจากกระแสลมกรดให้น้อยลง
ถาม CAT (Clear Air Turbulence) คืออะไร มีอันตรายต่อการบินอย่างไร
ตอบ CAT คือบริเวณที่มีความปั่นป่วนของอากาศ ในขณะที่ลักษณะอากาศในบริเวณนั้นโปร่งแจ่มใส ทัศนวิสัยดี ท้องฟ้าโปร่ง ไม่มีเมฆสำคัญ จะพบในตอนบนของชั้นบรรยากาศโทรโปสสเฟียร์ หรือบริเวณตอนล่างของชั้นบรรยากาศสตราโตรสเฟียร์ และบริเวณที่พบกระแสลมกรด (Jet stream) CAT เกิดจากการพาความร้อน ในบรรยากาศที่รุนแรงในแนวดิ่งของบรรยากาศที่ไม่ทรงตัว ไม่มีเสถียรภาพ ก่อให้เกิดแรงยกขึ้นให้อากาศที่ร้อนและมีความชื้นน้อย ลอยตัวขึ้น (Lifting action) อย่างอิสระ แรงยกตัวจากภายนอกที่มากระทำ ต่อมวลอากาศให้ลอยตัวขึ้นนี้อาจ เกิดขึ้นจากแนวลมพัดสอบเข้าหากัน แนวเทือกเขาตามสภาพภูมิศาสตร์ หรือแนวปะทะของอากาศชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ บริเวณของ CAT จะเคลื่อนที่ไปในทิศตะวันออกเสมอในซีกโลกเหนือ และจะเคลื่อนที่ไปในทิศตะวันตกเสมอในซีกโลกใต้ โดยจะเคลื่อนที่ตามแนวปะทะอากาศ (Front) ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศของผิวพื้นโลก อันตรายของ CAT ต่อเครื่องบินที่กำลังทำการบินในอากาศ โดยเฉพาะเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่ทำการบินในระดับสูง ๆ เมื่อเครื่องบิน ๆ เข้าสัมผัสกับบริเวณของ CAT จะประสพกับความปั่นป่วนของอากาศ เกิดการสั่นสะเทือนของเครื่องบินอย่างรุนแรง ของ CAT ทำให้ผู้โดยสารตกใจ ขาดความสุข หรือบางครั้งรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องบินและผู้โดยสารบาดเจ็บได้ CAT เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในขณะที่ลักษณะอากาศทั่วไปโปร่งแจ่มใส ทัศนะวิสัยดี ท้องฟ้าโปร่ง ฉะนั้น ทั้งนักบินและผู้โดยสารจะไม่รู้ตัวล่วงหน้าเลย จะรู้ว่ามี CAT ในบริเวณนั้นต่อเมื่อเครื่องบินบินเข้าสัมผัสแล้ว ดังนั้น ก่อนทำการบินทุกครั้ง นักบินและผู้ที่เกี่ยวข้องกับ กิจการบินจะต้องศึกษาตำแหน่งของ CAT ให้ละเอียดจากเอกสารประกอบการบิน (Flight folder) และข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยง หรือ ลดความรุนแรงของ CAT เพื่อให้เกิดความสะดวก ความสุข ความปลอดภัยและความมีประสิทธิภาพของการบิน
ถาม พิสัยการมองเห็นทางวิ่ง RVR (Runway Visual Range) คืออะไร มีความสำคัญต่อการบินอย่างไร
ตอบ RVR คือ ค่าทัศนะวิสัยสูงสุด ที่นักบินสามารถมองเห็นได้จากห้องนักบินออกไปข้างหน้าตามทางวิ่ง ในขณะที่เครื่องบินลงแตะพื้นทางวิ่งของสนามบิน ในทางปฏิบัติไม่สามารถตรวจวัดได้ด้วยสายตา ต้องใช้เครื่องมือวัดที่เรียกว่า Transmissometer โดยติดตั้งเครื่องมือนี้ให้อยู่ใกล้ ๆ กับจุดแตะพื้นทางวิ่งของเครื่องบินทุกเครื่องขณะร่อนลงจอด ทัศนะวิสัยมีความสำคัญมากในการบิน เพราะหมายถึงการมองเห็นทางวิ่งในสนามบิน ของนักบินในการนำเครื่องบิน ขึ้น-ลง แม้นว่าในปัจจุบันนี้เครื่องบินจะมีสมรรถนะในการขึ้น-ลง สนามบินได้เกือบทุกสภาพอากาศก็ตาม แต่นักบินผู้ควบคุมการบินก็จะต้องมองเห็น ทางวิ่งของสนามบินด้วยตาของนักบินเอง ระยะหนึ่งด้วยเสมอ
ถาม ทัศนะวิสัยในแนวเฉียง (Slant Visibility หรือ Approach Visibility) คืออะไร มีความสำคัญต่อการบินอย่างไร
ตอบ ทัศนะวิสัยคือระยะไกลที่สุดที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในแนวระนาบ แต่ทัศนะวิสัยในแนวเฉียง คือความสามารถของนักบินที่สามารถมองเห็นได้ ในแนวเฉียงจากห้องนักบินขณะ นำเครื่องบินร่อนลงสู่ทางวิ่งของสนามบิน เป็นทัศนะวิสัยการมองเห็นด้วยตาเปล่า ของนักบินขณะจะนำเครื่องร่อนลง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือ ใช้ตรวจวัดทัศนะวิสัยในแนวเฉียงนี้ เป็นทัศนะวิสัยการมองเห็นที่สำคัญมากต่อความปลอดภัยของการขึ้น - ลงสนามบินของเครื่องบินในขณะที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น มีพายุฝนฟ้าคะนองที่สนามบิน หรือเกิดหมอกหนาทึบปกคลุมสนามบิน ซึ่งเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ โศกนาฏกรรมมาแล้วมากมาย
ถาม ความกดอากาศ มีความสำคัญอย่างไรต่อการบิน
ตอบ ทางการบินความกดอากาศมีความสำคัญมาก ต่อการทำงานของเครื่องบิน เช่น ความกดอากาศสูงจะทำให้เครื่องยนต์ของเครื่องบิน มีกำลังเพิ่มขึ้นทำให้เครื่องบิน ยกตัวได้ดีขึ้นบินไต่ระดับได้อย่างรวดเร็ว ในทางตรงข้ามความกดอากาศต่ำ ทำให้กำลังของเครื่องยนต์ของเครื่องบินมีกำลังลดลง ถ้าความกดอาศต่ำมากกว่า เกณท์ที่กำหนดไว้จะต้องทำการลดน้ำหนักบรรทุกลง เพื่อให้น้ำหนักบรรทุกอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ สำหรับความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการบินของเครื่องบิน นอกจากนี้เครื่องบินในปัจจุบันยัง ใช้ความกดอากาศในการวัดความสูงของเครื่องบินอีกด้วย
ถาม นักบินวัดความสูงของระดับบินได้อย่างไร
ตอบ ระดับความสูงสามารถวัดได้โดย ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างความกดอากาศ กับความสูงสร้างเครื่องมือวัดความสูง เรียกว่า ALTIMETER โดยใช้หลักการที่ว่า”ความกดอากาศลดลงตามความสูง” แต่อัตราการลดลงไม่คงที่เหมือนอุณหภูมิ โดยความกดอากาศมีอัตราการลดลง ตามความสูงในระดับความสูงต่างๆไม่เท่ากัน ค่าความกดอากาศมีความสำคัญมากในกิจการบิน ฉะนั้นการตรวจวัดความกดอากาศทุกขั้นตอนของอุตุนิยมวิทยาต่างๆ จะผิดพลาดไม่ได้ เพราะถ้าค่าความกดอากาศผิดพลาด ย่อมหมายถึงความสูงของเครื่องบินผิดพลาดด้วยซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
ถาม พายุฝนฟ้าคะนองเกิดจากอะไร และมีอันตรายต่อการบินอย่างไร
ตอบ พายุฝนฟ้าคะนองเป็นปรากฏการทางธรรมชาติ ที่มีความสำคัญมากในอากาศบ้านเรา เกิดจากเมฆคิวมูโลนิมบัส (CB) ซึ่งเป็นเมฆก่อตัวในทางตั้ง ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับเครื่องบินที่กำลังทำการบินอยูในอากาศ ทั้งขณะบินอยู่ในเส้นทางบิน หรือ ขณะขึ้นลงสนามบินเพราะพายุฟ้าคะนอง มีสภาวะอากาศที่เลวร้ายที่สุด มีกระแสอากาศ(DARFT) และลมกระโชกรุนแรง ทำให้ความสูงของเครื่องบินที่บินผ่านเข้าไป มีความสูงที่เปลี่ยนแปลงไป บริเวณที่มีลมกระโชกแรงสุด ได้แก่บริเวณตอนกลางพายุฟ้าคะนอง มีฝนตกหนัก มีน้ำแข็งจับเกาะเครื่องบินอย่างรุนแรง และบางครั้งอาจมีลูกเห็บด้วย จากสถิติ ในวันหนึ่งๆทั่วโลก มีพายุฟ้าคะนองเกิดขึ้นประมาณ 44,000 ครั้ง
ถาม หมอก คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร มีอันตรายต่อการบินอย่างไร
ตอบ โดยทั่วไปขณะเกิดหมอกทัศนะวิสัยจะตำกว่า 1 กิโลเมตร หมอกจึงเป็นปรากฏการทางธรรมชาติที่มีอันตรายต่อการบิน เพราะค่าของทัศนะวิสัยมี่ความสำคัญ แม้ว่าในปัจจุบันเครื่องบินจะมีสมรรถนะในการบิน ขึ้น- ลง สนามบินได้เกือบทุกสภาวะอากาศก็ตาม แต่นักบินก็จะต้องมองเห็นทางวิ่งของสนามบินด้วยตาเปล่าของนักบินเอง ระยะหนึ่งด้วยเสมอ ทัศนะวิสัยในแนวเฉียงที่นักบินมองผ่านชั้นหมอกลงมา ยังทางวิ่งของสนามบิน ขณะกำลังจะร่อนลงสู่พื้นดินจะมองได้ระยะไกลกว่า มองในแนวระนาบเมื่อลดระดับบินลงมาอยู่ในชั้นของหมอก ปรากฏการณ์เช่นนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเครื่องตก หรือลื่นไถลออกจากทางวิ่งของสนามบินขณะเครื่องบินร่อนลง
ถาม เอกสารประกอบการบิน ( FLIGHT FOLDER ) คืออะไร มีความสำคัญต่อการบินอย่างไร
ตอบ เอกสารประกอบการบิน ( FLIGHT FOLDER) เป็นบริการข้อมูลอุตุนิยมวิทยาการบินที่สำคัญชนิดหนึ่ง ซึ่งเที่ยวบินทุกเที่ยวบินที่จะเดินทางจากท่าอากาศยานกรุงเทพฯ จะต้องได้รับ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน การบินของสายการบินต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ในการทำ WEIGHT BALANCE ,ทำแผนการบินล่วงหน้า(FLIGHT PLAN) เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะอากาศร้าย ที่จะเป็นอันตรายต่อเครื่องบินตลอดเส้นทางบิน และเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารคู่มือของนักบินในการทำการบิน ตั้งแต่นำเครื่องบินขึ้นจากสนามบิน ต้นทางจนกระทั่งร่อนลงจอดที่สนามบินปลายทาง เพื่อให้เกิดความสะดวก ประหยัด และปลอดภัยในกิจการบิน เอกสารประกอบการบินประกอบด้วย ข่าวพยากรณ์อากาศบริเวณสนามบิน (TAF) ของสนามบินต้นทาง สนามบินปลายทางและสนามบินสำรอง แผนที่แสดงลักษณะอากาศร้ายที่มีความสำคัญต่อการบิน (SIG WX CHART)ตามเส้นทางบิน แผนที่พยากรณ์ลมและอุณหภูมิในระดับต่างๆ ที่ทำการบิน และข่าวพยากรณ์ ลม อุณหภูมิ ความกดอากาศ และลมระดับ 500 hPa บริเวณสนามบิน เพื่อนำเครื่องบินขึ้นและไต่ระดับ ตลอดจนข้อมูลบริการพิเศษเมื่อร้องขอ ได้แก่ ภาพถ่ายเมฆจากดาวเทียม คำเตือนต่างๆ เช่น SIGMET , WARNNING , WIND SHEAR WARNING ฯลฯ
ถาม การผันแปรของอุณหภูมิมีผลต่อการบินทั้งในขณะบิน,ระหว่างทำการบิน และบินลงจอด อย่างไร
ตอบ อุณหภูมิอากาศ คือ ความร้อนเย็นของอากาศซึ่งจะมีผลในการกำหนด ความเร็ว และระยะทางในการร่อนขึ้น-ลง ของเครื่องบิน ในการพิจารณากำหนด สมรรถนะ ของเครื่องยนต์เพื่อกำหนดความเร็วในการวิ่งขึ้น และระยะทางวิ่งว่าควรใช้เท่าไร สำหรับน้ำหนักเครื่องบินทั้งหมดที่มีอยู่ การที่เครื่องบินบินอยู่ในอากาศได้นั้น สัมพันธ์กับความหนาแน่นของอากาศ ความเร็วของเครื่องบิน และน้ำหนักของเครื่องบิน ความหนาแน่นของอากาศและความเร็ว ของเครื่องบินทำให้เกิดแรงยกขึ้น ในขณะที่น้ำหนักของเครื่องบินเป็นแรงถ่วงลง เมื่ออุณหภูมิสูง ความหนาแน่นจะต่ำดังนั้นแรงยกตัวจะน้อยลง เครื่องบินจะต้องใช้อัตราเร็วสูงขึ้น และระยะทางมากขึ้นจึงจะสามารถยกตัวลอยขึ้น ในขณะที่อากาศมีอุณหภูมิต่ำ เครื่องบินจะใช้ระยะทางเพียงเล็กน้อยก็จะสามารถลอยตัวขึ้นได้ อากาศซึ่งมีอุณหภูมิสูงยังบั่นทอนกำลังของเครื่องยนต์ เนื่องจากความเบาบางของอากาศทำให้ เครื่องยนต์ดูดอากาศเข้าไปใช้ในการสันดาบน้อยลง และลดกำลังแรงขับดันของเครื่องยนต์ เครื่องบินที่กำลังทำการบินอยู่ใน เส้นทางบินจะประสบกับ ภาวะน้ำแข็งจับเกาะเครื่องบินได้ เมื่อทำการบินผ่านเข้าไป ในบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศา และมีความชื้นในอากาศสูงมาก น้ำแข็งจับเกาะเครื่องบินนั้นเป็นอุปสรรคและอันตรายต่อการบิน
ถาม เราวัดความสูงของเครื่องบินเหนือสนามบินได้อย่างไร
ตอบ ในการวัดความสูงของเครื่องบินเราใช้เครื่องมือวัดความสูงเรียกว่า ALTIMETRE โดยนักบินจะต้องปรับเครื่องวัดความสูง ตามค่าความกดอากาศที่วัดได้ ณ จุดตรวจวัด (QFE) ที่สนามบิน เครื่องวัดความสูงจะบ่งชี้ค่าความสูง จากจุดตรวจวัดนั่นคือความสูงของเครื่องเหนือสนามบิน (ACTUAL HEIGHT) และมีค่าเป็น 0 เมื่อเครื่องบินแตะสนามบินพอดี ดังนั้นนักบินจะต้องระมัดระวังในการปรับเครื่องวัดอยู่เสมอ มิฉะนั้น เครื่องบินอาจประสบอันตรายได้หากไม่รู้ความสูงที่แท้จริง
ถาม ปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยา หรือสภาพอากาศอะไรบ้างที่เป็นอันตรายต่อการบิน
ตอบ สภาพอากาศที่เกิดขึ้นในสนามบิน หรือเส้นทางบินนับเป็นอุปสรรคที่สำคัญมาก อย่างหนึ่งของการเดินอากาศ ถ้าสภาพอากาศรุนแรงมากเครื่องบิน ไม่สามารถปฏิบัติการบินได้แก่ ฝน หิมะ หมอก พายุฟ้าคะนอง พายุหมุนเขตร้อน ภูเขาไฟ และทอร์นาโด
ถาม การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคลื่นทำได้โดยวิธีใดบ้าง
ตอบกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศทะเลและเตือนภัย ในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน นอกจากนี้ยังให้บริการข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยาทางทะเลโดยผ่านทางสื่อต่างๆ เช่นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต และอื่นๆ
ถาม ข้อมูลคลื่นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านใดบ้าง
ตอบ 1. ใช้ในด้านการเตือนภัย เช่น ให้ข้อแนะนำ และเกณฑ์ในการพยากรณ์คลื่นในสถานการณ์ต่างๆ
2. ใช้ในด้านการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างในทะเล เช่น การออกแบบสิ่งปลูกสร้าง อาคารในทะเล และชายฝั่ง เพื่อความปลอดภัย
3. ใช้ในด้านการเดินเรือ เช่น ใช้ประกอบการพิจารณาเส้นทางเดินเรือ เพื่อจะไปยังที่หมายด้วยระยะทางที่สั้น ประหยัด และปลอดภัย
4. ใช้ในด้านการประมง เช่น นำไปใช้ในการวางแผนในการประมง เพื่อความปลอดภัย
5. ใช้ในด้านการพักผ่อน เช่น ใช้ประกอบการตัดสินใจด้านความปลอดภัย และการเดินทางไปพักผ่อน เช่น การว่ายน้ำ ตกปลา ฯลฯ
ถาม การเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลคลื่นทำกันอย่างไร
ตอบ ข้อมูลคลื่นได้มาจากการตรวจจากเรือสำรวจ เรือประมง
ทุ่นสำรวจทางสมุทรศาสตร์ และดาวเทียมทางทะเล โดยส่งข้อมูลผ่านทางสถานีวิทยุชายฝั่ง ดาวเทียม
นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลจากสถานีตรวจอากาศตามชายฝั่งทะเล และข้อมูลจากระบบการตรวจอากาศทั่วโลก (Global Telecommunication
System) ข้อมูลดังกล่าวได้แก่ ความสูงคลื่นนัยสำคัญ คาบคลื่น คลื่นใต้น้ำ ความเร็วและทิศทางลม จะถูก นำมาวิเคราะห์
เพื่อใช้ในการพยากรณ์อากาศทะเล และคลื่นต่อไป
ถาม คลื่นรวม (Combined Wave height) หมายถึงอะไร
ตอบ หมายถึง ความสูงคลื่นทั้งหมด ซึ่งจะรวมพลังงานทั้งหมดของคลื่นลม
และคลื่นใต้น้ำ โดยพลังงานนี้จะเป็นสัดส่วนกับความสูงคลื่น combined waveheight (Hc)
ถาม ความสูงคลื่นนัยสำคัญ (Significant Wave Height) เป็นอย่างไร
ตอบ ความสูงคลื่นนัยสำคัญ หมายถึงค่าเฉลี่ยของความสูงคลื่น
โดยใช้วิธีนำความสูงคลื่นจำนวนหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง มาเรียงจากมากไปหาน้อย แบ่งเป็น 3 ส่วน
โดยนำส่วนแรกซึ่งมากที่สุดมาเฉลี่ย วิธีการนี้เป็นค่าประมาณคร่าวๆ เพื่อนำไปใช้ในการตรวจวัดคลื่นด้วยสายตา
ในการวิเคราะห์และพยากรณ์คลื่นนั้น ความสูงคลื่นที่ใช้หมายถึงความสูงคลื่นนัยสำคัญ
ถาม ลมพื้นผิวมหาสมุทร (Ocean Surface Wind)วัดที่ระดับใด
ตอบ ลมพื้นผิวมหาสมุทรที่ใช้ในการพยากรณ์คลื่นลม
จะถูกกำหนดเอาไว้ที่ความสูง 10 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ปกติแล้ว ความเร็วลมจะเพิ่มมากขึ้น ตามความสูง ตัวอย่างเช่น
ความเร็วลมระดับ 30 เมตร จะมีความเร็วลมมากกว่าระดับ 10 เมตร ถึง 10 เปอร์เซ็นต์
ถาม เหตุใดในเขตร้อนการพยากรณ์อากาศยากกว่าเขตอบอุ่น
ตอบ การพยากรณ์การเกิดฝนในเขตอบอุ่นโดยทั่วไป
ฝนในเขตอบอุ่นจะเกิดตามแนวปะทะอากาศ (ซึ่งเป็นบริเวณที่มวลอากาศที่มีคุณสมบัติต่างกันมาพบกัน)
โดยแนวปะทะอากาศเป็นระบบลมฟ้าอากาศขนาดใหญ่มาก ทำให้ตรวจพบได้โดยง่าย นอกจากนี้ยังมีทิศทาง
และความเร็วในการเคลื่อนตัวที่ค่อนข้างคงที่ ลักษณะฝนที่เกิดจากแนวปะทะอากาศนี้ มีรูปแบบที่ชัดเจนแน่นอน
ทำให้สามารถพยากรณ์พื้นที่และเวลาที่เกิดฝนได้ไม่ยาก
ถาม การพยากรณ์การเกิดฝนในเขตร้อน
ตอบ โดยทั่วไปฝนในเขตร้อนมักจะเกิดจากการลอยตัว ของอากาศร้อนชื้นซึ่งทำให้เกิดเมฆก้อน และมีฝนตกเป็นบริเวณที่ไม่ต่อเนื่องกัน มีการเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างรวดเร็ว มีรูปแบบและการเคลื่อนตัวที่ไม่แน่นอน การพยากรณ์ พื้นที่และเวลาที่เกิดฝนจึงยากลำบากกว่าเขตอบอุ่น สรุปโดยทั่วไปฝนในเขตอบอุ่นเกิดจากระบบลมฟ้าอากาศขนาดใหญ่ ส่วนในเขตร้อนฝนเกิดจากลมฟ้าอากาศขนาดเล็ก
ถาม การพยากรณ์อากาศของประเทศต่างๆในเขตร้อนมีรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างไร
ตอบ - ประเทศบรูไน เป็นการพยากรณ์ วันที่ 20 ต.ค.43
การคาดหมาย มีลมฝนเกิดขึ้นอย่างรุนแรงฉับพลันบริเวณทะเล ส่วนบริเวณอื่นมีเมฆมากและมีฝนเป็นครั้งคราว
ลม ลมตะวันตกเฉียงใต้ 20-30 กม./ชม. บนแผ่นดิน และ 30-50 กม./ชม. บนพื้นน้ำ
ทะเล มีคลื่นปานกลาง ความสูงของคลื่น 1.5-2.0 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นจัดได้ ความสูงของคลื่น 2.5 เมตร
อุณหภูมิ สูงสุด 33 ? ซ. ต่ำสุด 25 ? ซ.
ข้อแนะนำ สภาวะทะเลและลักษณะอากาศที่รุนแรงฉับพลัน จะเป็นอันตรายต่อเรือเล็ก โดยเฉพาะบริเวณที่ห่างฝั่งออกไป
- ประเทศมาเลเซีย เป็นการพยากรณ์ประจำวันของบริเวณเมืองต่างๆ โดยแบ่งเป็นช่วงเช้า
บ่าย ค่ำ ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้
บริเวณซาราวัค เช้า อากาศดีโดยทั่วไป
บ่าย ฝนบางพื้นที่ และมีลักษณะพายุฟ้าคะนองได้
ค่ำ ฝนบางพื้นที่
ทะเล ความสูงของคลื่น 1.5-2 เมตร
ลม ลมตะวันตกเฉียงใต้ 30-40 กม./ชม.
- ประเทศสิงคโปร์ เป็นการพยากรณ์ 3 วัน ล่วงหน้า เช่น
วันเสาร์ - มีฝนในตอนเช้า
วันอาทิตย์ - มีฝนในตอนสาย
วันจันทร์ - มีฝนในตอนสาย และตอนเที่ยง
- ประเทศอินโดนีเซีย เป็นการพยากรณ์รายวัน ตามเมืองต่างๆดังนี้
เมือง | อุณหภูมิ( ซ.) | ความชื้นสัมพัทธ์ (%) | ลักษณะอากาศ | ||
ต่ำสุด | สูงสุด | ต่ำสุด | สูงสุด | ||
จากาตาร์ | 24 | 32 | 65 | 97 | มีฝน |
บันดุง | 19 | 28 | 63 | 95 | มีฝน |
เซมารัง | 25 | 32 | 62 | 93 | มีฝน |