Link Copied
เอลนีโญและลานีญา
เอลนีโญ คือการที่ผิวน้ำทะเลทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนอุ่นขึ้น และแผ่ขยายกว้างไกลออกไป เป็นเวลานานถึง 3 ฤดูกาลหรือมากกว่า ในทางกลับกันถ้าผิวน้ำทะเลบริเวณนี้เย็นลงจะเรียกว่า ลานีญา
ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (Southern Oscillation) หมายถึงอะไร
ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ หมายถึงปรากฎการณ์ที่ความกดอากาศด้านตะวันตก ของมหามุทรแปซิฟิกบริเวณประเทศอินโดนีเซีย กับตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน มักจะมีลักษณะตรงกันข้าม กล่าวคือ เมื่อความกดอากาศบริเวณประเทศอินโดนีเซียมีค่าสูง ความกดอากาศบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกมักจะมีค่าต่ำ
ปรากฏการณ์เอลนีโญมีผลกระทบด้านภูมิอากาศอย่าางไร ในช่วงที่เกิดเอลนีโญ สภาพภูมิอากาศบางบริเวณจะผันแปรไปจากปกติ กล่าวคือบริเวณที่เคยมีฝนชุกจะกลับแห้งแล้ง และบริเวณที่เคยแห้งแล้งจะมีฝนชุก เช่น ประเทศอินโดนีเซีย จะเกิดความแห้งแล้งผิดปกติจากฤดูกาลที่เคยมีฝนชุก ในขณะที่บริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งปกติแห้งแล้งกลับมีฝนชุกกว่าปกติ
ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญามีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร
เมื่อเกิดเอลนีโญขนาดรุนแรงขึ้นเมื่อใด ปริมาณฝนของประเทศไทยมักมีค่าต่ำกว่าปกติ และอุณหภูมิของอากาศจะสูงกว่าปกติ เช่นเอลนีโญขนาดรุนแรง ปี พ.ศ. 2540 - 2541 ประเทศไทยประสบกับสภาวะความแห้งแล้ง มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติทั่วประเทศ ส่วนผลกระทบจากลานีญาจะตรงข้ามกับเอลนีโญ เช่นลานีญาที่เกิดขึ้นปี พ.ศ. 2542 - 2543 ประเทศไทยมีฝนชุกกว่าปกติ และอุณหภูมิในฤดูหนาวลดลงทำลายสถิติหลายจังหวัดในเดือนธันวาคม 2542
หากต้องการทราบข้อมูลและการพยากรณ์ภูมิอากาศจะสามารถค้นหาได้จากแหล่งใด
กรมอุตุนิยมวิทยามีงานบริการข้อมูลที่ให้บริการด้านสถิติภูมิอากาศและข้อมูลต่างๆ โดยตรง และมีฝ่ายวิเคราะห์และพยากรณ์ระยะนาน ที่ให้บริการด้านพยากรณ์อากาศระยะนานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป หรืออาจเข้าชมที่เว็บไซต์ www.tmd.go.th ในหน้าพยากรณ์และสถิติภูมิอากาศ
ลมฟ้าอากาศหรือภูมิอากาศมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราอย่างไร
ลมฟ้าอากาศ หรือภูมิอากาศมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเลือกเสื้อผ้าให้สวมใส่สบาย ต้องเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ การทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภูมิอากาศ จะมีส่วนช่วยเหลือผู้ที่เป็นเกษตรกร ในการเลือกชนิดหรือพันธ์พืชที่ต้องการปลูกให้ได้ผลผลิตดี การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ทิศทางลม หรือทิศทางที่ได้รับแสงอาทิตย์ จะช่วยให้อยู่อาศัยได้สบายขึ้น เป็นการประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย การทราบสภาพลมฟ้าอากาศล่วงหน้าก่อนออกไปทำงาน หรือออกเดินทางจะช่วยให้สะดวกสบาย และสามารถเตรียมความพร้อมได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อการทำการค้า การขนส่ง และการท่องเที่ยว เป็นต้น
พื้นที่บริเวณใดของประเทศที่มีฝนมาก
และบริเวณใดมีฝนน้อยบริเวณที่มีฝนมาก มักเป็นบริเวณที่อยู่ด้านหน้าภูเขาหรือที่เรียกว่าเป็นด้านรับลม เช่น ในช่วงฤดูฝนซึ่งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย มรสุมนี้จะพัดพาความชื้นจากทะเลมาปะทะแนวเขา อากาศชื้นจะยกตัวขึ้นตามลาดเขา และกลั่นตัวเป็นเมฆและฝนด้านหน้าเขา ส่วนด้านหลังเขาซึ่งเป็นด้านปลายลม จะมีฝนน้อยกว่า ตัวอย่างเช่น บริเวณที่เป็นด้านรับลมหน้าทิวเขาถนนธงชัยและทิวเขาตะนาวศรี ได้แก่ พื้นที่บริเวณด้านตะวันตกของจังหวัดตากและกาญจนบุรีจะมีฝนมาก และพื้นที่ซึ่งเป็นด้านปลายลมหลังทิวเขาตะนาวศรี ได้แก่ บริเวณจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์จะมีฝนน้อย
(ที่มา : สารานุกรมสำหรับเยาวชนไทย เล่ม 4 หน้า 148)