Link Copied
ลมฟ้าอากาศและภูมิอากาศต่างกันอย่างไร
ลมฟ้าอากาศ คือ สภาวะของอากาศบนพื้นที่ใดๆในช่วงเวลาหนึ่ง
ภูมิอากาศ คือ สภาวะโดยทั่วไปของลมฟ้าอากาศบนพื้นที่ใดๆ ในช่วงเวลานาน ๆ ซึ่งพิจารณาจากการตรวจอากาศซ้ำ ๆ กันหลายครั้งเป็นระยะเวลานานประมาณ 30 - 35 ปี
ลมฟ้าอากาศแตกต่างจากภูมิอากาศ ตรงที่การเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศจะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ เช่น ลมฟ้าอากาศในระยะเวลาหนึ่งเดือนที่แล้วมา เป็นต้น
ลมฟ้าอากาศ หรือภูมิอากาศมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราอย่างไร
ลมฟ้าอากาศ หรือภูมิอากาศมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเลือกเสื้อผ้าให้สวมใส่สบาย ต้องเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ การทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภูมิอากาศ จะมีส่วนช่วยเหลือผู้ที่เป็นเกษตรกร ในการเลือกชนิดหรือพันธุ์พืชที่ต้องการปลูกให้ได้ผลผลิตดี การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ทิศทางลม หรือทิศทางที่ได้รับแสงอาทิตย์จะช่วยให้อยู่อาศัยได้สบายมากขึ้น เป็นการประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย การทราบสภาพลมฟ้าอากาศล่วงหน้าก่อนออกไปทำงาน หรือออกเดินทางจะช่วยให้สะดวกสบาย และสามารถเตรียมความพร้อมได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อการทำการค้า การขนส่งและการท่องเที่ยว เป็นต้น
ค่าปกติคืออะไร
ค่าปกติในทางอุตุนิยมวิทยา เป็นค่าเฉลี่ยเลขคณิตของสารประกอบอุตุนิยมวิทยาในคาบ 30 ปี ซึ่งกำหนดโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ( World Meteorological Organization; WMO) เพื่อใช้เป็นค่ามาตรฐาน ในการนำมาเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศทั่วโลก ปัจจุบันช่วงมาตรฐานที่ใช้อยู่คือ พ.ศ. 2504 – 2533 (ค.ศ.1961 - 1990)
ฝนที่ตกในประเทศไทยเนื่องมาจากสาเหตุใดบ้าง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝนตกบริเวณประเทศไทย ได้แก่
1. ร่องความกดอากาศต่ำ
2. ลมมรสุม
3. การพาความร้อน
4. พายุหมุนเขตร้อน
5. แนวพัดสอบของลม
6. คลื่นกระแสลมตะวันตก
7. คลื่นกระแสลมตะวันออก
8. การยกตัวของมวลอากาศเมื่อเคลื่อนมาปะทะเทือกเขา
ประเทศไทยเคยมีอุณหภูมิต่ำสุดติดลบหรือไม่ ถ้ามีอยู่ที่ไหน
เคยมีในหลายพื้นที่ โดยที่จังหวัดสกลนครมีอุณหภูมิต่ำที่สุดวัดได้ -1.4 ซ. เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2517
น้ำค้างแข็งหรือแม่คะนิ้ง คืออะไร พบได้ที่ไหน
น้ำค้างแข็ง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า แม่คะนิ้ง ภาษาพื้นเมืองทางภาคเหนือเรียกว่า เหมยขาบ คือผลึกน้ำแข็งที่เกิดขึ้นเนื่องจาก ไอน้ำในอากาศใกล้ผิวดินลดอุณหภูมิลงถึงอุณหภูมิจุดน้ำค้าง แล้วกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ต่อจากนั้นอุณหภูมิยังคงลดต่อไปอีก จนต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ทำให้น้ำค้างแข็งตัว กลายเป็นน้ำค้างแข็ง ซึ่งจะทำความเสียหายแก่พืชไร่และผักต่าง ๆ เช่น ข้าวที่กำลังออกรวงก็จะมีเมล็ดลีบ พืชไร่จะชะงักการเจริญเติบโต พืชผักใบจะหงิกงอ ไหม้เกรียม กล้วย มะพร้าวและทุเรียนใบจะแห้งร่วง ถ้าเกิดติดต่อกันหลายวัน ก็จะทำความเสียหายแก่พืชที่ปลูกได้มากขึ้น
แม่คะนิ้ง ในเมืองไทยสามารถพบเห็นได้ตามบริเวณยอดดอยในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอากาศหนาวจัด ส่วนมากจะเกิดในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม